Ads Top

SMK Insurance

ท่อไอเสียรถยนต์ ตรวจอย่างไร? อาการแบบไหนต้องส่งซ่อม!

“ท่อไอเสียรถยนต์” เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ผู้ขับขี่มักละเลยหรือขาดการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี จนอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ลุกลามมากขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมมากกว่าที่ควรจะเป็น แล้วเราควรมีวิธีตรวจสอบท่อไอเสียรถยนต์ของเราอย่างไร? ว่าขณะนี้มีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่? สินมั่นคงประกันรถยนต์มีข้อมูลมาบอกต่อค่ะ

หน้าที่หลักของ “ท่อไอเสียรถยนต์”

"ท่อไอเสียรถยนต์" ทำหน้าที่เป็นช่องทางหลักเพื่อระบายไอเสียออกจากเครื่องยนต์ ลดเสียงระเบิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และช่วยกรองมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตให้ออกมาสู่อากาศน้อยลง ซึ่งสิ่งที่หลงเหลือจากการเผาไหม้แล้วออกมาจากท่อไอเสียจะประกอบไปด้วย

  • คาร์บอนไดออกไซด์ 
  • คาร์บอนมอนนอกไซด์ 
  • ไนโตรเจนไดออกไซด์ 
  • ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 
  • ฟอสฟอรัส 
  • โลหะหนักต่างๆ อาทิ ตะกั่วและโมลิบดีนัม 

สารประกอบเหล่านี้จะรวมออกมาในรูปแบบก๊าซที่พุ่งออกมาด้วยแรงอัดจากกระบอกสูบ ผ่านท่อรวมไอเสีย หม้อพักกลาง และหม้อพักปลาย

ส่วนประกอบของ “ท่อไอเสียรถยนต์” มีอะไรบ้าง?

    1. ท่อรวมไอเสียรถยนต์ สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังนี้

  • ท่อรวมไอเสียแบบเฮดเดอร์ (Header) คือ ท่อไอเสียที่ทำจากท่อแยกแต่ละสูบและสามารถดัดโค้งให้ยาวขึ้นทำให้การระบายไอเสียจากเครื่องยนต์ทำได้ดีกว่า รถยนต์จึงมีกำลังมากขึ้น
  • ท่อรวมไอเสียแบบธรรมดา มักทำมาจากเหล็กที่หล่อขึ้นรูป เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ แต่ระบายไอเสียได้ไม่มาก ดังนั้นเครื่องยนต์จึงทำงานหนักขึ้นเพื่อผลักไอเสียให้ผ่านท่อลักษณะนี้ ส่งผลให้เครื่องยนต์มีกำลังลดลง ท่อรวมไอเสียแบบนี้มักเป็นท่อไอเสียรถยนต์ส่วนใหญ่ของรถยนต์ที่ผลิตออกมาจำหน่าย

    2. หม้อพักกลาง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นไส้ตรงหรือตรงเกลียว ทำหน้าที่ช่วยดูดซับเสียงจากท่อรวมไอเสียรถยนต์และหม้อพักท้ายให้เงียบลง และไม่สะท้อนเข้าห้องโดยสาร

    3. หม้อพักท้าย ถือเป็นด่านสุดท้ายของระบบท่อไอเสียทั้งหมด ส่วนใหญ่จะติดอยู่กับปลายท่อบริเวณด้านท้ายรถ มีหน้าที่ซับเสียงไม่ต่างจากหม้อพักกลาง แต่ที่เพิ่มขึ้นมาคือการวางไส้ในลักษณะที่ต่างกัน เพื่อสร้างแรงอั้นให้เหมาะสมกับขนาดเครื่องยนต์และชนิดของเกียร์ โดยมี 2 รูปแบบคือ

  • หม้อพักไส้ย้อน เป็นประเภทที่มักจะพบได้ในรถยนต์ที่ผลิตจากโรงงาน ซึ่งหม้อพักประเภทนี้จะช่วยเรื่องการดูดซับเสียงเป็นหลัก ใช้ได้ทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโต้ แต่จะเหมาะใช้งานกับเกียร์ออโต้มากที่สุดเพราะมีแรงอั้นสูงส่งผลให้พละกำลังการออกตัวดี แต่จะไม่เหมาะกับเครื่องที่มีระบบอัดอากาศ (เทอร์โบ)
  • หม้อพักไส้เยื้อง มีความโล่งมากกว่าหม้อพักไส้ย้อน ใช้ได้กับทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโตเมติก แต่เมื่อโล่งมากขึ้นแรงอั้นก็ลดลงตามไปด้วยจึงอาจส่งผลให้กำลังเครื่องยนต์ตกในช่วงแรกหลังสตาร์ทเครื่อง (รอบต้น) แต่จะได้การไหลในรอบปลายมาแทน

ตรวจสภาพ “ท่อไอเสียรถยนต์” ด้วยตัวเองในเบื้องต้น

วิธีตรวจเช็กสภาพ “ท่อไอเสียรถยนต์” ที่สามารถทำได้เองง่ายๆ ดังนี้

  1. ตรวจสอบด้วยตาเปล่า ใช้ “แม่แรง” เป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อยกรถให้สูงขึ้น จะได้ตรวจสอบว่าท่อไอเสียมีรูหรือมีสนิมเกาะเป็นจำนวนมากหรือไม่ ซึ่งปัญหาทั้งสองประเด็นนี้มักนำมาซึ่งการเกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่ และแก้ยากกว่า
  2. ฟังเสียง หากท่อไอเสียชำรุดหรือเกิดอาการผิดปกติ จะส่งเสียงดังมากเป็นพิเศษ ฉะนั้นจึงควรหมั่นฟังเสียง และสังเกตเสียงที่สั่นผิดปกติอยู่เสมอ เพราะอาจเป็นเสียงของอาการท่อไอเสียหลุดหลวม หรือแตกหักได้
  3. มีน้ำรั่วหรือไม่ ควรหมั่นตรวจสภาพใต้ท้องรถเสมอ ดูว่ามีน้ำหยดหรือไม่ ถ้ามีการรั่วไหลของน้ำในหลายๆจุด แสดงให้เห็นว่าท่อไอเสียเกิดการชำรุดอย่างชัดเจน
  4. ตรวจวัดอุณหภูมิ ในขณะที่ขับรถออกไปได้สักพัก ให้ตรวจเช็กอุณหภูมิรถยนต์ว่าอยู่ในระดับปกติไหม หากมีความเสียหายเกิดขึ้นที่ท่อไอเสีย อุณหภูมิของรถจะสูงกว่าปกติ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในทันที

“ท่อไอเสียรถยนต์” เสีย มีอาการอย่างไร?

  1. ท่อไอเสียมีสนิมจับ มีรอยแตก เป็นหนึ่งสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม เจ้าของรถยนต์ควรหมั่นทำความสะอาดด้วยการเช็ดท่อไอเสียรถยนต์อยู่เสมอ เพื่อให้มองเห็นว่าสภาพท่อยังปกติดีหรือมีรอยบุบพังหรือไม่ หากพบจะจะได้รีบนำไปให้ช่างตรวจสอบได้ทันท่วงที
  2. มีเสียงดังออกมาจากเครื่องยนต์ หากมีเสียงดังขึ้นมาจากท่อไอเสียรถยนต์แบบไม่มีสัญญาณเตือน (อ่าน ประกันรถยนต์ : ไฟโชว์เตือน! รูปเครื่องยนต์ (Check Engine) ทำอย่างไรดี? คลิก https://www.smk.co.th/newsdetail/1617) ควรรีบนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจสอบโดยเร็ว เพราะยิ่งปล่อยไว้นานอาจส่งผลเสียลุกลามไปยังอุปกรณ์ส่วนอื่นๆ ของเครื่องยนต์ได้ ซึ่งวิธีสังเกตความผิดปกติของเสียงจากท่อไอเสียสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเปิดเพลงหรือวิทยุคลอฟังในระดับปกติ แต่หากกลับต้องเปิดเสียงวิทยุบนรถให้ดังขึ้นถึงจะสามารถฟังได้ชัด แสดงว่าเสียงเครื่องยนต์เริ่มดังเกินไปอย่างผิดปกติแล้ว ควรรีบนำรถยนต์เข้าเช็กที่ศูนย์บริการทันที
  3. เกิดเสียงรั่วจากเครื่องยนต์ ในขณะที่เครื่องกำลังทำงานกลับมีเสียงรั่วออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ หมายความว่าเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยาหรือแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์ในรถยนต์กำลังได้รับความเสียหาย เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้รถยนต์จะสามารถใช้งานไปได้สักระยะหนึ่งเท่านั้น จึงควรนำรถเข้าตรวจเช็กสภาพอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะเกิดความเสียหายมากขึ้น
  4. คันเร่งมีอาการสั่นผิดปกติ หรืออืดมากกว่าปกติ ขณะที่เหยียบคันเร่งหากสัมผัสได้ถึงการสั่นแบบผิดปกติ หรือเหยียบคันเร่งไม่ค่อยขยับ เหมือนกำลังของรถไม่มี อาจบ่งบอกได้ว่า เกิดการแตกรั่วในระบบท่อไอเสีย หากเป็นรอยรั่วขนาดใหญ่จะมีเสียงดังก้องตอนกำลังสตาร์ทเครื่องยนต์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์มาก ควรรีบนำรถยนต์เข้าตรวจเช็กทันที
  5. มีกลิ่นเหม็นไหม้ การที่รถยนต์มีกลิ่นเหม็นไหม้กระจายเข้าสู่ห้องโดยสาร นอกจากจะมีสาเหตุจากท่อไอเสียรถยนต์มีรอยรั่วแล้ว ยังส่งผลเสียต่อร่างกายได้อีกด้วย เพราะกลิ่นจากท่อไอเสียรถยนต์ ประกอบไปด้วยก๊าซที่ทำอันตรายต่อร่างกาย หากสูดดมเข้าไปจะส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึม วิงเวียนศรีษะ และมึนหัว หรือหากเผลอหลับก็อาจส่งผลต่อชีวิตได้ด้วย (อ่าน อันตรายท่อไอเสียรั่วในห้องเครื่อง เสี่ยงถึงตาย! คลิก

อุปกรณ์และชิ้นส่วนในรถยนต์ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ขับขี่และเจ้าของรถยนต์ควรให้ความใส่ใจ ดูแล บำรุงรักษาให้สามารถใช้งานได้เป็นปกติอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิด ช่วยให้คุณอุ่นใจยิ่งขึ้นกับประกันรถยนต์ตามเวลาจากสินมั่นคงประกันภัย สู้ภัยโควิด-19เลือกได้ตามใจ ให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 3, 6, 9, 12 เดือน ด้วยเบี้ยเบาๆ จ่ายสบาย ช่วยแบ่งเบาภาระในยามวิกฤต เพื่อความอุ่นใจเมื่อออกเดินทาง สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/premotor หรือ โทร.1596 

สินมั่นคงประกันภัย ..ประกันรถ ประกันเวลา..

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.