Ads Top

SMK Insurance

อาการแปลกๆ ของพวงมาลัยรถ สัญญาณบอกเหตุรถยนต์มีปัญหา!!




พวงมาลัยอุปกรณ์สำคัญของรถยนต์ที่เราใช้ในการควบคุมให้รถยนต์ไปตามทิศทางที่ต้องการ แต่หากเกิดอาการผิดปกติกับพวงมาลัย เช่น อาการพวงมาลัยสั่น พวงมาลัยหนัก พวงมาลัยมีเสียง อาการเหล่านี้บอกอะไรกับเราได้บ้าง มีคำแนะนำมาบอกกันดังนี้




ระบบพวงมาลัย  มีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ พวงมาลัย, ขายึดแกนพวงมาลัย, แกนพวงมาลัย, หน้าแปลนพวงมาลัย, ยางข้อต่อ, กระปุกพวงมาลัย, แขนเกียร์พวงมาลัย, คันชักคันส่งกลาง, คันชักคันส่งข้าง , แขนดึงกลับ และกระปุกพวงมาลัย





พวงมาลัยรถยนต์ในปัจจุบันมักเป็นพวงมาลัยแบบเพาเวอร์ มี 3 แบบ ดังนี้

- แบบไฮดรอลิกส์แบบใช้น้ำมัน
- แบบไฮดรอลิกส์ร่วมกับไฟฟ้า
- แบบไฟฟ้าใช้ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียวไม่มีน้ำมันเพาเวอร์
  


     
1. พวงมาลัยหลวมเกินไป

อาการ การที่หมุนพวงมาลัยไปมาแล้วล้อไม่คืนกลับมา พวงมาลัยฟรี ปกติถ้าเราหมุนพวงมาลัยไปแล้ว พวงมาลัยก็จะหมุนฟรีกลับมา ซึ่งระยะฟรีของพวงมาลัยนั้นจะมีระยะระหว่าง 25 ม.ม. – 1 นิ้ว ถ้าหากระยะฟรีมากกว่านี้ ให้สันนิษฐานว่าพวงมาลัยหลวม

สาเหตุอาจเกิดจาก
1. ปรับเฟืองบังคับเลี้ยวไม่เหมาะสม ทำให้มีระยะช่องว่างมากเกินไป ควรปรับใหม่ให้เข้าที่และเหมาะสมยิ่งขึ้น ถ้าเกิดสึกหรอมาก ควรเปลี่ยนใหม่
2. ข้อต่อลูกหมากของแกนต่อของระบบบังคับเลี้ยวสึกหรอมากหรือหลวม ควรตรวจสอบหาจุดบกพร่อง ถ้าสึกหรอมากควรเปลี่ยนใหม่
3. แบริ่งล้อหน้าสึกหรอมากหรือปรับไม่ถูกต้อง ควรปรับใหม่หรือเปลี่ยนแบริ่งใหม่
4. ช่วงล่างของล้อหน้าอาจหลวม ซึ่งมีผลถึงระบบบังคับเลี้ยว ตรวจสอบและแก้ไขช่วงล่าง
5. พวงมาลัยหลวมเอง ต้องขันใหม่ให้ตึงด้วยทอร์คที่เหมาะสม
6. สลักเกลียวยึดห้องเฟืองบังคับเลี้ยวหลวม ต้องขันใหม่ให้ตึงให้เหมาะสม
   
      
2. พวงมาลัยไม่คืนกลับตำแหน่งเดิม

อาการ  ปกติหลังจากเลี้ยวรถพวงมาลัยจะหมุนกลับคืนโดยอัตโนมัติให้รถตั้งลำใหม่เข้าสู่ เส้นทางวิ่งตรง แต่ถ้าพวงมาลัยไม่ยอมกลับคืน ต้องใช้มือช่วยหมุน แสดงว่าผิดปกติ

สาเหตุอาจเกิดจาก
1. ศูนย์ล้อหน้าผิดจากข้อกำหนด จะต้องตั้งศูนย์ล้อหน้าใหม่
2. อุปกรณ์รองรับเครื่องล่างผิดปกติจะต้องแก้ไขปรับตั้งหรือเปลี่ยนใหม่
3. ความดันลมยางรถยนต์ต่ำกว่าข้อกำหนด


3. พวงมาลัยถูกดึงไปข้างใดข้างหนึ่ง

อาการ  ปกติรถจะวิ่งตรงไปข้างหน้าโดยไม่ต้องฝืนพวงมาลัย อาการของรถที่ไม่ยอมวิ่งตรง  คือพยายามจะเลี้ยวไปทางซ้ายหรือเลี้ยวไปทางขวา อย่างใด อย่างหนึ่ง ทำให้ผู้ขับขี่ต้องฝืนพวงมาลัยเอาไว้

สาเหตุอาจเกิดจาก
1. แรงดันลมล้อหน้าทั้งคู่ไม่เท่ากัน
2. ปั๊มน้ำมันเพาเวอร์ไม่ดี
3. โช้คอัพชำรุด
4. ยางหน้าสึกหรอไม่เท่ากัน
5. ศูนย์ล้อหน้าผิดปกติ


4. พวงมาลัยหนัก

าการ ต้องใช้แรงในการหมุนพวงมาลัยมากขึ้นจากเดิม

สาเหตุอาจเกิดจาก
1. แรงดันยางรถยนต์ต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้ยางแบนแนบสัมผัสกับถนนมากขึ้น จึงเกิดความฝืดมากขึ้นเวลาหมุนพวงมาลัย ส่งผลให้พวง มาลัยหนัก
2. กระปุกพวงมาลัยมีความฝืด ขาดน้ำมันหล่อลื่น
3. ตั้งศูนย์ล้อไม่ถูกต้อง
4. ใช้ยางที่มีขนาดหน้ายางใหญ่กว่ามาตรฐาน
5. ปริมาณน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์รั่วไหลออก ชุดเกียร์จะต้องซ่อมแซม
6. ข้อต่ออ่อนแกนพวงมาลัยชำรุด
7.สายพานหย่อน

5. พวงมาลัยควบคุมยาก

อาการ ควบคุมพวงมาลัยลำบาก

สาเหตุอาจเกิดจาก
1. การตั้งศูนย์ล้อหน้าไม่ถูกต้อง
2. โช้คอัพชำรุด
3. พวงมาลัยหลวม
4. ลูกหมากหลวม
5. ลูกปืนล้อหน้าหลวม
6. ดอกยางสึกหรอมาก

6. พวงมาลัยเลี้ยวมีเสียงดัง

อาการ   สามารถพบได้บ่อยที่สุด อาการเสียงดังของพวงมาลัยนั้นกำลังจะบอกคุณว่าเกิดการสึกหรอของชิ้นส่วนบางอย่างซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจมีผลต่อการควบคุมทิศทางได้

สาเหตุอาจเกิดจาก
1. ลูกหมากปลายแร็คที่มีปัญหา
2. การสึกหรอของฟันแร็ค
3. ความห่างของลูกปืนในกระปุกพวงมาลัยกับลูกปืนคอพวงมาลัย
4. การหลวมคลอนของข้อต่อแกนพวงมาลัย
5. ยางเก่า ลูกปืนล้อหรือโช้คอัพอาจจะเสีย
6. ยางเครื่องแท่นเกียร์ชำรุด
7. ขันน็อตล้อไม่แน่น
8. การตั้งล้อไม่ได้ศูนย์

7. พวงมาลัยสั่น

อาการ เป็นปัญหาที่เจอดได้บ่อย อาจเริ่มสั่นที่ความเร็วใดความเร็วหนึ่ง หรือสั่นตลอดเวลา

สาเหตุอาจเกิดจาก
1. เริ่มสั่นที่ความเร็วใดความเร็วหนึ่ง อาจจะเกิดจากการถ่วงล้อ
2. เกิดการสั่นเพิ่มตามความเร็วของรถ ก็อาจจะเกิดจากลูกปืนล้อ
3. โช๊คอัพมีการชำรุดเสียหายหรือยางแท่นเครื่องแท่นเกียร์ชำรุดเสียหาย
4. ขันน็อตล้อหรือรูน็อตล้อเริ่มจะไม่ดีชำรุดเสียหาย ซึ่งก็จะทำให้ล้อไม่ได้ศูนย์
5. ตัวล้อบิดเบี้ยว





หากพวงมาลัยเริ่มมีอาการผิดปกติควรควรรีบนำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์บริการทันที อย่าปล่อยไว้นานๆ เพราะอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ ลุกลามไปยังส่วนอื่นได้  

การประกันภัยรถยนต์ที่ดีจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ วางใจให้เราช่วยดูแล 
สินมั่นคงประกันภัย..ประกันรถ ประกันเวลา.. ด้วยเบี้ยที่ไม่แพง พร้อมบริการที่สะดวก รวดเร็ว โทร 1596 หรือ www.smk.co.th/premotor.aspx


Photo source: freepik.com

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.