กลั้นปัสสาวะนานๆ กลั้นฉี่บ่อยๆ เสี่ยงทำร้ายสุขภาพ!
ในยุคที่ความเคร่งเครียดจากการทำงานส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศที่ต้องอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา จนเป็นที่มาของโรค “ออฟฟิศซินโดรม” (ท่ายืดแขนและข้อศอก แก้อาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม https://www.smk.co.th/newsdetail/1599) ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับข้อต่อและกล้ามเนื้อทั่วทั้งร่างกายแล้ว การนั่งทำงานนานๆ อาจทำให้เผลอกลั้นปัสสาวะนานเกินไปโดยไม่รู้ตัว การกลั้นปัสสาวะนานเกินไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร และจะมีวิธีการฝึกตัวเองอย่างไร ไม่ให้เผลออั้นฉี่โดยไม่รู้ตัว สินมั่นคงประกันสุขภาพ มีข้อมูลมาบอกต่อค่ะ
ทำไมร่างกายมนุษย์ถึงอั้นปัสสาวะได้?
ระบบขับถ่ายของคนเรานั้นค่อนข้างซับซ้อน และต้องอาศัยการทำงานของอวัยวะหลายส่วน ทั้งกล้ามเนื้อและเส้นประสาทภายในกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงระบบประสาทในสมอง เมื่อมีปัสสาวะอยู่ครึ่งกระเพาะ เส้นประสาทในกระเพาะปัสสาวะจะถูกกระตุ้นให้ส่งสัญญาณไปยังสมองแล้วทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ จากนั้นสมองจะส่งสัญญาณกลับไปยังกระเพาะปัสสาวะให้กลั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะพร้อมขับถ่าย ซึ่งระยะเวลาในการปวดปัสสาวะของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น อายุ ปริมาณปัสสาวะ และช่วงเวลาของวัน เนื่องจากการส่งสัญญาณการปวดปัสสาวะจะน้อยลงในช่วงเวลากลางคืน เพื่อทำให้ร่างกายนอนหลับได้เต็มอิ่ม นอกจากนี้ หากปวดปัสสาวะบ่อยอาจเกิดจากความเครียดหรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดได้ และผู้หญิงบางรายอาจปวดปัสสาวะบ่อยหลังคลอดบุตรด้วย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงลง
กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่อะไร?
กระเพาะปัสสาวะ เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายบอลลูน ในผู้หญิงจะอยู่หลังกระดูกหัวเหน่าภายในอุ้งเชิงกรานด้านหน้ามดลูก และผู้ชายจะอยู่ด้านหน้าต่อทวารหนัก มีหน้าที่กักเก็บปัสสาวะได้ประมาณ 350-500 มิลลิลิตร ผนังของกระเพาะปัสสาวะมีกล้ามเนื้อเรียบ 3 ชั้น ที่คอของกระเพาะจะมีกล้ามเนื้อหูรูดทวารเบามัดใน (internal sphincter muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อลายอยู่ด้วย กระเพาะปัสสาวะจะทำหน้าที่เป็นที่เก็บสะสมน้ำปัสสาวะ จนกระทั่งมีน้ำปัสสาวะเกิน 250 มิลลิลิตร ก็จะรู้สึกปวด อยากถ่ายปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะหดตัว ขับน้ำปัสสาวะออกมา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โดยไม่มีอาการปวดหรือแสบใดๆ
การกลั้นปัสสาวะนานหรือบ่อยเกินไป อันตรายแค่ไหน?
หากผู้ที่มีระบบทางเดินปัสสาวะแข็งแรงและมีสุขภาพดี การกลั้นปัสสาวะอาจไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนว่าคนเราควรกลั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานานเท่าใดถึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการกลั้นปัสสาวะจะปลอดภัยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันไปของแต่ละคนด้วย โดยผู้ใหญ่ที่มีปริมาณน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมากกว่า 480 ซีซี อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้ และในบางกรณีการกลั้นปัสสาวะอาจเป็นอันตรายได้โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะให้สูงขึ้น โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท รวมทั้งผู้ที่มีความผิดปกติของไต การกลั้นปัสสาวะเป็นประจำอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคไตได้ นอกจากนี้ การกลั้นปัสสาวะยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะหดเกร็งและปวดท้องน้อย กระเพาะปัสสาวะอักเสบและกระเพาะปัสสาวะปริแตก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก (กลั้นปัสสาวะนานๆ ระวัง! กระเพาะปัสสาวะอักเสบ…ถามหา)
วิธีดูแลระบบทางเดินปัสสาวะให้แข็งแรง
การอั้นฉี่หรือการกลั้นปัสสาวะ ในบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจช่วยลดและป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็น
- ปัสสาวะให้สุด การขมิบกล้ามเนื้อให้ปัสสาวะหยุดไหลเร็วเกินไป อาจทำให้น้ำปัสสาวะที่เหลืออยู่ตกค้างและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ จึงควรปัสสาวะให้สุดทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อช่วยขับแบคทีเรียออกจากระบบทางเดินปัสสาวะ
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟและน้ำอัดลม เนื่องจากคาเฟอีนอาจทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ควรดื่มน้ำน้อยลงเมื่อจำเป็น โดยผู้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือต้องเข้าห้องน้ำบ่อย อาจลดปริมาณการดื่มน้ำให้น้อยลงในช่วงเวลาที่จำเป็น เช่น ก่อนเดินทางระยะไกล ก่อนดูภาพยนตร์ หรือก่อนเข้านอน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ
- ดูแลสุขอนามัยทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบในเพศหญิงได้ เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงอยู่ในบริเวณที่มีเชื้อแบคทีเรียสะสม
- ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศและบริเวณทวารหนักภายนอกก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ และควรถ่ายปัสสาวะทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะช่วยขับแบคทีเรียออกมาได้
- ขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน การขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฝึกการขมิบอย่างถูกวิธีด้วย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้
ประกันสุขภาพตามฟิต ตามก้าว ..ยิ่งก้าว เบี้ยยิ่งลด.. ดูแลความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพสำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง (ฟิตกว่า) มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยน้อยกว่าคนที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่ฟิตร่างกาย เบี้ยประกันสำหรับคนที่ฟิตกว่าจึงควรจ่ายน้อยกว่า นอกจากนี้ยังสามารถ รับเบี้ยคืนอีกหากออกกำลัง (ก้าวเดิน) ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/producthealthdetail/1
ไม่มีความคิดเห็น: