เช็กด่วน! รถรุ่นไหนใช้ถุงลมนิรภัยไม่ได้มาตรฐาน ถุงลมนิรภัยทาคาตะ
หนึ่งในอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสำหรับรถยนต์นอกจากจะเป็นการคาดเข็มขัดนิรภัยตามกฎหมายกำหนดแล้ว ยังรวมไปถึงถุงลมนิรภัยที่ถูกจัดเก็บไว้ใต้คอนโซลหน้ารถ แต่ก็พบว่า มีถุงลมนิรภัยบางยี่ห้อที่เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่จนอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้แถลงข่าวเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์เร่งเปลี่ยน "ถุงลมนิรภัย Takata" ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ หลังพบว่ายังมีรถยนต์ในไทยที่มีการใช้งานกว่า 6 แสนคัน สินมั่นคงประกันรถยนต์ มีข้อมูลมาฝากค่ะ
ถุงลมนิรภัย คืออะไร?
ถุงลมนิรภัย เป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของรถยนต์ ทำหน้าที่เสมือนเป็นหมอนรองผู้โดยสารที่ประกอบไปด้วยวัสดุห่อหุ้มที่มีความยืดหยุ่น ถูกออกแบบมาเพื่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อรถยนต์เกิดอุบัติเหตุ มีลักษณะคล้ายกับลูกบอลอากาศขณาดใหญ่ที่โผล่พ้นออกมาจากพื้นที่ที่มีการพับเก็บไว้อย่างดีในบริเวณคอนโซลรถ
จุดประสงค์ของการมีถุงลมนิรภัยก็เพื่อป้องกันผู้โดยสารจากการกระแทกกับวัตถุภายในรถยนต์ เช่น พวงมาลัย และหน้าต่าง ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่มีถุงลมนิรภัยรองรับ เมื่อผู้โดยสารเกิดกระแทกกับวัตถุภายในของรถยนต์โดยตรงจะมีโอกาสบาดเจ็บได้มากกว่า และเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตก็มีมากกว่ารถยนต์ที่ไม่มีถุงลมนิรภัย
ถุงลมนิรภัยอยู่ส่วนไหนของรถยนต์
ตำแหน่งของถุงลมนิรภัยในรถยนต์แต่ละรุ่นจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหากเป็นรถยนต์ทั่วไปจะมีถุงลมนิรภัยขั้นต่ำอยู่ที่ 2 ตำแหน่งบริเวณคอนโซลหน้า แต่หากเป็นรถยนต์ที่มีราคาแพงขึ้นมา อาจมีถุงลมนิรภัย 4-6 ตำแหน่ง หรือในบางรุ่นอาจมีมากถึง 8 ตำแหน่ง เช่น
- ถุงลมด้านหน้า (Front Airbag) จะติดตั้งอยู่บนโครงด้านหน้าขวาและซ้าย ช่วยป้องกันคนขับรถและคนนั่งข้างคนขับ
- ถุงลมด้านข้าง (Side Airbag) จะติดตั้งอยู่ที่แผงประตูหรือที่ตัวเบาะนั่ง
- ม่านถุงลม (Curtain Airbag) จะช่วยป้องกันการชนจากด้านข้างในระดับปานกลางถึงรุนแรง ถุงลมแบบม่านจะพองตัวออกมา พร้อมการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย มักจะติดตั้งในรถยนต์ที่มีราคาแพง
- ถุงลมป้องกันเข่าและขา (Knee Airbag) จะซ่อนอยู่ใต้คอนโซลด้านผู้ขับขี่บริเวณหัวเข่า ช่วยป้องกันขา และหัวเข่า ไม่ให้ไปชนเข้ากับคอนโซล ด้านล่างใต้พวงมาลัย รวมทั้งสะโพก และเข่า
- ถุงลมที่พื้นใต้เท้า (Carpet Airbag) ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ ทำหน้าที่ช่วยผ่อนแรงบริเวณเท้าที่จะไปกระแทกกับพื้น และผนังกั้นระหว่างห้องโดยสาร และห้องเครื่องให้เบาลง
ถุงลมนิรภัย อุปกรณ์ช่วยชีวิต หรือระเบิดเวลา!
เหตุการณ์การเสียชีวิตได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผู้ใช้งานเสียชีวิตและบาดเจ็บจากถุงลมนิรภัยระเบิด (ย้อนรอยคดีถุงลมนิรภัยมรณะ Takata จนต้องเรียกคืนรถเกือบ 100 ล้านคัน และบริษัทล้มละลาย) และได้ทำการสอบสวนจนพบถึงสาเหตุว่า เกิดจากถุงลมนิรภัยบกพร่อง ซึ่งเป็นถุงลมนิรภัยที่ผลิตโดยบริษัท ทาคาตะ ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และมีลูกค้าเป็นค่ายรถยนต์ชั้นนำจำนวนมาก สาเหตุเป็นเพราะความชื้นที่สูงอาจส่งผลกระทบต่อสารเคมีแอมโมเนียมไนเตรตที่ใช้ผลิต และทำให้ถุงลมปล่อยแรงระเบิด และเศษชิ้นส่วนที่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร แทนที่จะปกป้องผู้โดยสาร
สำหรับประเทศไทย ได้มีการขายรถหลายยี่ห้อ หลายรุ่น รวมแล้ว รถกว่า 1.7 ล้านคันในไทยติดตั้งถุงลมนิรภัยดังกล่าว และได้มีการเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนถุงลมไปแล้ว แต่ก็พบว่า ยังมีรถอีกจำนวนหลายแสนคันที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยกว่า 6 แสนคัน
อันตรายของถุงลมนิรภัยไม่ได้มาตรฐาน
ที่ผ่านมาในประเทศไทย เคยมีกรณีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ซึ่งจากการชันสูตรยืนยันได้ว่าเป็นการเสียชีวิตจากชิ้นส่วนที่กระเด็นออกมาจากถุงลมนิรภัย พบบาดแผลผู้เสียชีวิตฉีกขาดเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 ซม. บริเวณกลางหน้าอกด้านบน ลึกไปจนถึงกระดูกสันหลังช่วงคอ และพบชิ้นส่วนโลหะฝังตัวในกระดูกสันหลัง โดยสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากชิ้นส่วนโลหะดังกล่าวที่ทะลุบริเวณคอและหน้าอกส่วนบน ทั้งนี้ ชิ้นส่วนโลหะดังกล่าวมีลักษณะเข้าได้กับชิ้นส่วนของถุงลมนิรภัย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นยี่ห้อ "ทาคาตะ"
เรียกคืนเปลี่ยนชิ้นส่วนถุงลมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ได้มีการเรียกคืนรถยนต์บางส่วนเพื่อเข้ารับบริการเปลี่ยนชิ้นส่วนถุงลมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าอะไหล่ และค่าแรงในการเปลี่ยนอะไหล่ จำนวนทั้งสิ้น 1,725,816 คัน และสามารถแก้ไขชุดถุงลมนิรภัยไปได้จำนวน 1,045,336 คัน คิดเป็นร้อยละ 60.6 แต่ยังคงเหลือรถอีกจำนวน 680,480 คัน ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัยจาก 8 บริษัทรถยนต์ ได้แก่ ฮอนด้า บีเอ็มดับเบิลยู นิสสัน โตโยต้า มิตซูบิชิ มาสด้า เชฟโรเลต และฟอร์ด ที่ได้มีการขายรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตรายยี่ห้อดังกล่าวในประเทศไทยมากว่าสิบปี
สำหรับผู้เป็นเจ้าของหรือใช้งานรถยนต์ทั้ง 8 ยี่ห้อ ดังกล่าว สามารถเช็ครุ่นรถ และปีที่ผลิตได้ว่า เข้าข่ายเป็นอันตรายจากถุงลมนิรภัยหรือไม่ ที่เว็บไซต์ www.checkairbag.com หรือ https://bit.ly/3M31Hso จากนั้นคลิกเลือกยี่ห้อรถยนต์ และนำตัวเลขตัวถังของรถค้นหา หากเข้าข่ายที่ต้องเปลี่ยนให้ติดต่อกับศูนย์บริการรถยนต์ที่คุณใช้อยู่ และนำรถเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยกับศูนย์บริการฯ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
คุ้มครองให้ปลอดภัยทั้งคุณและรถ ประกันภัยรถยนต์คนกรุง ประกันรถยนต์ชั้น 1 เบี้ยเริ่มต้น 11,600 บาท เบี้ยไม่ยอมเปลี่ยนแปลง อัตราเบี้ยคงที่เท่ากันทุกปี คุ้มครองครอบคลุมทุกกรณี สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/productmotordetail/19 Line : @smkinsurance
ไม่มีความคิดเห็น: