Ads Top

SMK Insurance

หม้อแปลงระเบิดเกิดจากอะไร? อันตรายแค่ไหน?

หลายครั้งที่เหตุเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนมักมีสาเหตุมาจากความประมาทของผู้อยู่อาศัย แต่จากสถิติแล้วกลับพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอัคคีภัยล้วนมาจาก ไฟไหม้หญ้าและการเผาขยะ ในขณะที่สาเหตุรองมาคือ ไฟฟ้าลัดวงจร ที่สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนในวงกว้าง และล่าสุดกับเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนในย่านสำเพ็งจากหม้อแปลงระเบิด จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย (ไฟไหม้สำเพ็ง จากเหตุหม้อแปลงระเบิด มีเหยื่อเพลิง 2 ศพ https://www.matichon.co.th/local/news_3420632) แล้วเพราะเหตุใดหม้อแปลงระเบิดจึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้? และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร? สินมั่นคงประกันภัยมีข้อมูลมาฝากค่ะ

หม้อแปลงไฟฟ้าคืออะไร?

หม้อแปลงไฟฟ้า คือ เครื่องกลไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ใช้เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยสามารถเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้า (Voltage) ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ไม่มีการเปลี่ยนกำลังไฟฟ้า (Power/Watt) และความถี่(Frequency/Hz) มีส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ 

  1. แกนเหล็ก แกนเหล็กของหม้อแปลงจะมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เคลือบด้วยฉนวน เรียกกันว่า แผ่นลามิเนต
  2. ขดลวดตัวนำ ขดลวดตัวนำของหม้อแปลงจะมีลักษณะเป็นขดลวดทองแดงหรืออลูมิเนียมหุ้มด้วยฉนวน โดยทั่วไป หม้อแปลงจะมีขดลวด 2 ชุด คือ ขดลวดปฐมภูมิ (Primary Winding) และขดลวดทุติยภูมิ (Secondary Winding)
  3. ฉนวน ฉนวนของหม้อแปลงจะมีไว้เพื่อป้องกัน ไม่ให้ขดลวดสัมผัสกับส่วนที่เป็นแกนเหล็ก และป้องกันไม่ให้ขดลวดแต่ละชั้นสัมผัสกัน

การระบายความร้อนของหม้อแปลงไฟฟ้า

หม้อแปลงไฟฟ้า เมื่อใช้งานไปจะเกิดความร้อนขึ้นภายในและอาจทำให้เกิดการสูญเสียขึ้นในหม้อแปลง จึงจำเป็นต้องระบายความร้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การระบายความร้อนจะมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

  1. การระบายความร้อนตามธรรมชาติ คือ การใช้อากาศรอบๆ ช่วยในการระบายความร้อน
  2. การระบายความร้อนด้วยน้ำมัน เป็นการระบายความร้อนโดยการแช่ตัวหม้อแปลงอยู่ในน้ำมันที่บรรจุอยู่ในถังหม้อแปลง โดยน้ำมันที่ใช้ระบายความร้อนหม้อแปลง จะต้องมีคุณลักษณะพิเศษ คือ เป็นฉนวนที่ดี และทำหน้าที่ระบายความร้อนให้แก่ขดลวดและแกนเหล็ก ทนต่อไฟฟ้าแรงดันสูง และมีอายุการใช้งานยาวนาน
  3. การระบายความร้อนด้วยน้ำมันและการเป่าลม เป็นการระบายความร้อนโดยการแช่ตัวหม้อแปลงอยู่ในน้ำมันที่บรรจุอยู่ในถังหม้อแปลง และใช้พัดลมเป่าที่ผิวภายนอกถังเป็นการเร่งระบายความร้อน
  4. การระบายความร้อนด้วยน้ำมันและน้ำ เป็นการระบายความร้อนโดยการแช่ตัวหม้อแปลงอยู่ในน้ำมันที่บรรจุอยู่ในถังหม้อแปลง และมีท่อน้ำขดเป็นวงรอบหม้อแปลงไฟฟ้าภายในถัง น้ำมันจะเป็นตัวระบายความร้อนแก่หม้อแปลง และน้ำจะเป็นตัวระบายความร้อนแก่น้ำมันอีกครั้งหนึ่ง
  5. การระบายความร้อนด้วยการปั๊มน้ำมันให้ไหลวนเวียนได้เร็วขึ้น

หม้อแปลงระเบิดเกิดจากอะไร?

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า หากหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวมีการเสื่อมสภาพ และเกิดการลัดวงจรด้านใน จะทำให้เกิดความร้อนที่สูงเกินมาตรฐาน จนนำไปสู่การเผาไหม้ตัวเครื่องของหม้อแปลงได้ โดยสัญญาณความผิดปกติที่จะสังเกตเห็นได้ คือ หม้อแปลงจะมีควันออกมา ก่อนจะเกิดไฟลุกไหม้

กรณีของหม้อแปลงไฟฟ้า จะมีขดลวดที่อยู่ในหม้อแปลงไฟฟ้าและมีแผ่นเหล็กและมีตัวฉนวน กระแสไฟจะวิ่งอยู่ภายใน แต่เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าจะมีระบบระบายความร้อนโดยใช้น้ำมันที่สามารถทนความร้อนได้สูง เช่น ทนได้ถึง 500 องศา แล้วระบายออกไป แต่หากหม้อแปลงเสื่อมสภาพ  เช่น มีการลัดวงจรภายใน ความร้อนของหม้อแปลงจะสูงเกินกว่าจุดเดือดของน้ำมันที่ระบายความร้อนจะทนได้ เมื่อความร้อนสูงมาก น้ำมันก็จะเกิดการเผาไหม้ได้ ซึ่งองค์ประกอบของการติดไฟมี 3 อย่าง คือ ความร้อนที่ทำให้ติดไฟได้ เชื้อเพลิง และอากาศ ดังนั้นการที่เชื้อเพลิงที่อยู่ในหม้อแปลง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ทนความร้อนได้สูงมาก แสดงว่าความร้อนที่ทำให้เกิดไฟได้ ต้องมีความร้อนที่สูงมาก ๆ เช่นกัน (ไฟไหม้บ้าน ขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน? https://www.smk.co.th/newsdetail/2760


วิธีเอาตัวรอดจากหม้อแปลงระเบิด

ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษและนักวิชาการอิสระ ได้ให้คำแนะนำวิธีเอาตัวรอดจากกรณี "หม้อเเปลงระเบิด" ด้วยกฎเหล็ก 3 ข้อที่เกี่ยวกับหม้อแปลง คือ

  1. หม้อแปลง ทุกลูกสามารถระเบิดได้ และอาจจะระเบิดเมื่อไรก็ได้
  2. ก่อนการระเบิด มักจะมีสัญญาณเตือนให้เห็นหรือได้ยินก่อนเสมอ
  3. หม้อแปลงส่วนใหญ่มีน้ำมันอยู่ข้างใน แม้จะติดไฟยากแต่ก็สามารถติดไฟได้ 

นอกจากนี้ ยังมีวิธีเอาตัวรอดจากหม้อแปลงระเบิด ดังนี้

  1. ควรหาทางนำสายสื่อสารที่รกระเกะระกะออกให้หมด เนื่องจากสายสื่อสารเหล่านี้ติดไฟได้ และเป็นตัวทำให้ไฟที่ไหม้ลามเข้าอาคารและลามไปบริเวณใกล้เคียงได้ 
  2. ไม่ควรซื้อตึกแถวที่มีหม้อแปลงอยู่บริเวณหน้าบ้าน หรือข้าง ๆ บ้านในระยะประชิด
  3. หากหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือซื้อตึกแถวหรืออาคารที่มีหม้อแปลงไว้แล้ว อาจใช้หน้าต่างที่ไม่ติดไฟ ทนไฟ  และปิดหน้าต่างไว้เสมอ
  4. ห้องที่อยู่ใกล้บริเวณหม้อแปลง ไม่ควรมีผ้าม่าน หรือวัสดุที่ติดไฟได้อยู่ใกล้หน้าต่าง
  5. เตรียมถังดับเพลิงเอาไว้ให้มากที่สุด
  6. ไม่ควรจอดรถใต้หม้อแปลง
  7. ไม่ควรเปิดร้านค้าบริเวณใต้หม้อแปลง
  8. หากพบเห็นหม้อแปลงมีควันขึ้น ให้รีบถอยห่างและรีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด
  9. ควรมีปืน Thermo Gun ติดไว้ที่บ้านเพื่อใช้วัดอุณหภูมิของหม้อแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากเกิน 100 องศาเซลเซียส ควรเตรียมตัวป้องกันอัคคีภัยไว้ และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้แก้ไขทันที
  10. หม้อแปลงทุกลูกระเบิดได้เสมอ ห้ามอยู่ใกล้โดยไม่มีเหตุจำเป็นเด็ดขาด

ในบางครั้งแม้เหตุเพลิงไหม้จะสามารถป้องกันเหตุไม่ให้ลุกลามไปได้ แต่ก็หลายครั้งที่พบว่า อัคคีภัยสามารถก่อความเสียหายให้ทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมากมาย ป้องกันก่อนปลอดภัยกว่า ด้วยประกันอัคคีภัยจากสินมั่นคงประกันภัย ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย  ทั้งสังหาริมทรัพย์ และ อสังหาริมทรัพย์ ทั้งทรัพย์สินที่มีรูปร่าง และไม่มีรูปร่าง ที่เกิดความสูญเสียหรือเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้เป็นหลัก สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/others หรือ https://smkinsurance.blogspot.com/ Line : @smkinsurance

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.