มะเร็งเต้านม และอาการเตือนของมะเร็งในระยะแรก
แม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยี จะทำให้การดูแลรักษาสุขภาพของผู้หญิงทุกคนทำได้สะดวกและหายได้รวดเร็วมากขึ้น แต่ “มะเร็งเต้านม” ก็ยังเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่ผู้หญิงหลายคนกังวลใจ เนื่องจากเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในผู้หญิงมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ (กรมการแพทย์เผยภัยของมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย https://pr.moph.go.th/index.php?url=pr/detail/2/02/172408/) แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา ก็สามารถหายขาดจากโรคได้เช่นกัน ซึ่งอาการเตือนของมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะมีอะไรบ้าง สินมั่นคงประกันภัย มีข้อมูลมาฝากค่ะ
สาเหตุของมะเร็งเต้านม
สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจส่งเสริมให้เกิดโรคได้ ได้แก่
- ความเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ : รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย รวมไปถึงการทำกิจกรรมที่ได้รับรังสีในปริมาณสูง หรือการทานยาคุม
- ความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ : อายุที่มากขึ้นพบมากในหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมีคนในครอบครัวเคยเป็น หรือจากการกลายพันธุ์ของยีน
สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม
อาการเตือนของมะเร็งเต้านมในระยะแรกสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
1. คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้
สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน โดยก้อนเนื้อที่พบอาจจะกดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนหลังรอบเดือนหมด ประมาณ 1 สัปดาห์
2. ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป
แม้ปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างอาจมีขนาดและรูปร่างที่ต่างกันบ้าง แต่การหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างมีลักษณะผิดปกติไปจากเดิม จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันหากเกิดโรคร้ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
3. ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือ บวมหนา เหมือนเปลือกส้ม
รวมถึงสีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด เนื่องจากอาจเป็นอาการของเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
4. มีน้ำเหลือง หรือ ของเหลวไหลออกมาจากหัวนม
หากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลนั้นมีสีคล้ายเลือด และออกจากหัวนมเพียงรูเดียว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเต้านมโดยละเอียด
5. อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม หรือ ผิวหนังของเต้านมอักเสบ
หากมีอาการเจ็บเต้านมโดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน หรือพบว่าผิวหนังรอบๆ เต้านมบวมแดงอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อคลำพบก้อนเนื้อร่วมด้วย อย่าละเลยว่าเป็นเรื่องธรรมดาเด็ดขาด
6. ผื่นคันบริเวณเต้านมรักษาแล้วไม่หายขาด
ผื่นคันอาจเกิดขึ้นที่หัวนมหรือบริเวณเต้าส่วนใหญ่ เริ่มต้นเป็นเพียงผื่นแดงแสบๆ คันๆ แม้จะรักษาโดยแพทย์ผิวหนังแล้วยังไม่หายขาดจนกลายเป็นแผลตกสะเก็ดแข็ง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอีกครั้ง เนื่องจากอาจเกิดจากเซลล์มะเร็งลามขึ้นมาที่ผิวหนังด้านบนบริเวณหัวนมหรือเต้านมแล้ว
ควรตรวจเต้านมบ่อยแค่ไหน?
ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 คนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยจะต่ำ แต่หากไม่สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะส่งผลร้ายสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน โดยหญิงไทยควรเข้ารับการตรวจตามมาตรฐานที่สมควร ดังนี้
- อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง
- อายุ 35-40 ปีควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม 1 ครั้ง
- อายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมปีละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้หากอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมสามารถเข้ารับการตรวจได้เช่นกันไม่ควรปล่อยไว้ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าหากตรวจพบเชื้อมะเร็งเร็วจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ทำอย่างไร?
การตรวจเต้านมด้วยตนเองอาจจะตรวจในท่านั่ง ท่ายืน หรือท่านอนก็ได้ แต่ต้องอยู่ในห้องที่มิดชิด เพราะต้องถอดเสื้อส่วนบนออกทั้งหมด มีวิธีการตรวจเต้านมอยู่ 3 ท่า ได้แก่
1. ท่ายืนหน้ากระจก
- ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวตามสบาย สังเกตเปรียบเทียบขนาดเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนม หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
- สำรวจหาความผิดปรกติในท่าประสานมือเหนือศีรษะและท่าเท้าเอว
- โน้มตัวไปข้างหน้าโดยวางมือทั้ง 2 ข้างบนเข่าหรือเก้าอี้ แล้วสังเกตความปกติ
2. ท่านอนราบ
- นอนราบในท่าที่สบาย
- ยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมแผ่ราบ โดยเฉพาะบริเวณส่วนบนด้านนอกซึ่งมีเนื้อหนาที่สุด
- ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมืออีกข้างหนึ่ง คลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ โดยห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะรู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
- เมื่อตรวจเสร็จข้างหนึ่งแล้วให้ย้ายมาตรวจอีกข้างหนึ่งด้วยวิธีเดียวกัน
3. ขณะอาบน้ำ
- ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้ยกแขนข้างที่จะตรวจไว้เหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำแบบเดียวกับท่านอนราบ
- ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ให้ใช้มือข้างที่จะตรวจประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำจากด้านบน
สภาพสังคมในปัจจุบันยิ่งเป็นอัตราเร่งสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมของผู้หญิงได้ ทั้งปัจจัยด้านอายุ พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต การป้องกันที่ดีคือหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายและเต้านมอย่างสม่ำเสมอ (เคล็ดลับเช็กอัปสุขภาพด้วยตัวเอง https://www.smk.co.th/newsdetail/286) หากพบสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่ม ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา ก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ดียิ่งขึ้น
เลือกป้องกันความเสี่ยงภัยทุกโรคมะเร็งร้าย เลือกซื้อประกันภัยโรคมะเร็ง อีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถลดความเสี่ยงทางการเงิน ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยป่วยเป็นโรคมะเร็งได้ จ่ายเป็นเงินก้อน (เต็มทุนประกัน) ให้คุณทันทีที่ตรวจพบ สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/producthealthdetail/6 หรือ โทร. 1596 ตลอด 24 ชั่วโมง Line : smkinsurance และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น: