Ads Top

SMK Insurance

หลักสำคัญของการประกันภัย


การประกันภัยเป็นการทำธุรกิจที่มีสัญญาประกันภัยหรือกรรมธรรม์ประกันภัยที่กฎหมายยอมรับรู้และรับบังคับคดีให้โดยกำหนดข้อความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประกันภัย ฉะนั้นการทำสัญญาผูกพันให้มีผลทางกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตามหลักการที่กฎหมายบัญญัติไว้ หลักทั่วไปของกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยมีดังนี้
1.หลักส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย (Principle of Insurable Interest)
2.หลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง  (Utmost Good Faith)
3.หลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง (Principle of Indemnity)
4.หลักการรับช่วงสิทธิ (Principle of  Subrogation)
5.หลักการเฉลี่ย (Principle of Contribution)
6.หลักสาเหตุใกล้ชิด  (Principle of Proximate Cause)

4.1   หลักส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย (Principle of Insurable Interest) ถือเป็นหลักสำคัญพื้นฐานของการประกันภัย (Basic Doctrine) หลักในข้อนี้ไม่เพียงแต่เแป็นแนวคิดในกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวคิดในทางศีลธรรมอีกด้วย

ส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย หมายถึง ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีกรรมสิทธิ สิทธประโยชน์ หรือความรับผิดตามกฎหมายในวัตถุหรือเหตุที่เอาประกันภัยในขณะที่ทำสัญญาประกันภัย

จากความหมายข้างต้น ส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยนั้นอาจจะเป็นกรรมสิทธิ์ สิทธิตามกฎหมายหรือความรับผิดชอบตามกฎหมาย  ผู้มีสิทธิ์ที่จะเอาประกันภัยไม่ว่าจะเป็นการประกันวินาศภัย หรือการประกันชีวิต ผู้นั้นจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย เท่านั้น ทั้งนี้ก็โดยถือหลักว่า การประกันภัยเป็นการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความความเสียหายที่แท้จริงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นเกิดความระมัดระวังและป้องกันทรัพย์สินหรือสิ่งของที่เอาประกันไว้ไม่ให้เกิดความเสียหายโดยง่าย  นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันมิให้ใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือของการพนัน เพื่อแสวงหากำไรหรือการเก็งกำไรจากความเสียหายที่ตนไม่ได้มีส่วนได้หรือไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการเกิดเหตุร้ายนั้น ซึ่งถ้าหากผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัยนั้นก็อาจทำให้ผู้นั้นไม่ระมัดระวังในทรัพย์ที่เอาประกันภัย หรือผู้เอาประกันภัยต้องการให้เกิดภัยกับทรัพย์นั้นด้วยเจตนาเพื่อตนจะได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยก็ได้ ฉะนั้นผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียซึ่งมิใช้ผู้ที่ตกอยู่ในการเสี่ยงภัยจึงไม่อาจทำประกันภัยได้

บุคคลที่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย คือ บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเจ้าของบ้านย่อมได้รับความเสียหาย ถ้าบ้านของตนถูกเพลิงไหม้ เจ้าของรถยนต์ย่อมได้รับความเสียหาย ถ้ารถยนต์ของตนถูกชน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผู้เป็นเจ้าของหรือมีสิทธิ หรือได้ประโยชน์จากทรัพย์สิน หรือสิ่งใดโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมจะเอาประกัน ทรัพย์สินหรือสิ่งนั้นได้ ผู้ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์ หรือสิ่งใดย่อมเอาประกันภัยทรัพย์สิน หรือสิ่งนั้นไม่ได้

บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุหรือเหตุที่เอาประกัน สามารถแยกได้ดังนี้

1.   กรณีการประกันวินาศภัย
1.1 เป็นเจ้าของ   ผู้ครอบครอง หรือผู้ดูแล หรือผู้พิทักษ์ทรัพย์ทรัพย์สินนั้น ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินซึ่งการเป็นเจ้าของย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัย และเจ้าของย่อมเสียหายหรือสูญเสียผลประโยชน์ ถ้าทรัพย์ที่เอาประกันภัยไว้เกิดความเสียหาย การแสดงความเป็นเจ้าของนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว อาจเป็นเจ้าของร่วมหรือเป็นเจ้าของบางส่วนก็ได้ เช่นผู้ซื้อบ้านหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ระบบเงินผ่อนด้วยการตกลงผ่อนส่งเงินเป็นงวด ๆ ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำสินค้านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าภายหลังสินค้าหรือตัวทรัพย์สินเหล่านั้นเกิดสูญหายหรือเสียหายตนก็ยังต้องรับผิดชอบในการผ่อนส่งเงินตามงวดชำระที่ยังผ่อนชำระไม่ครบ

1.2   ผู้เป็นเจ้าหนี้
เจ้าหนี้ย่อมมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ตนยึดถือไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อประกันในการชำระหนี้เช่น ผู้รับจำนำ ผู้รับจำนอง เช่น นาย ก. ไปขอกู้เงินจากธนาคารจำนวน 1 ล้านบาท โดยนำเอาบ้านของตนไปจำนองไว้กับธนาคาร ฯ ซึ่งผู้เป็นเจ้าหนี้เกรงว่าจะเกิดไฟไหม้แก่บ้านที่รับจำนองไว้ ธนาคารมีสิทธิจะเอาบ้านไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัยได้โดยใส่ชื่อธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ ถ้าเพลิงเกิดไม้บ้านหลังดังกล่าวบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคาร 
        
1.3   ผู้มีสิทธิตามสัญญา
สัญญาในที่นี้หมายถึง ข้อผูกพันที่ได้ทำการตกลงถึงเฉพาะกรณีและมีผลบังคับคู่สัญญา เป็นสิทธิที่เรียกร้องให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องกระทำหรือจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายถ้ามีเหตุให้ทรัพย์นั้นต้องเสียหายหรือสูญหายเกิดขึ้น ผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดจากสัญญามักเกิดในกรณีเอาประกันวินาศภัย เช่น ผู้ให้เช่าย่อมมีส่วนได้เสียในค่าเช่าที่ได้รับจากผู้เช่า เจ้าของอาคารทำสัญญากับผู้เช่าอาคารให้ผู้เช่าอาคารรับผิดชอบค่าเสียหายถ้าเกิดอัคคีภัยกับอาคารนั้น ดังนั้นจึงทำให้ผู้เช่าได้รับสิทธินั้น ซึ่งส่วนได้เสียนี้อาจเอาประกันได้จึงย่อมทำประกันภัยอาคารได้

1.4   ผู้มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย
ความรับผิดชอบตามกฎหมายเป็นความรับผิดต่อทรัพย์สิน ซึ่งเกิดขึ้นตามกฎหมาย และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเมื่อเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิตที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยแก่ทรัพย์ที่รับมอบให้ดูแลรักษา เช่นผู้รับขนส่งสินค้า ผู้รับเหมา ผู้เช่า ผู้รับจ้างทำของต้องดูแลทรัพย์นั้นให้ปลอดภัย จึงถือว่าผู้รับผิดชอบดังกล่าวนั้นมีส่วนได้เสีย สามารถเอาประกันภัยทรัพย์ได้ อันเป็นกรณีปกติ

1.5   ผู้มีส่วนได้เสียในฐานะตัวแทนของเจ้าของ
ตัวแทน หมายถึง บุคคลที่มีอำนาจทำการแทนอีกบุคคลหนึ่งตามที่ได้ตกลงไว้การเป็น “ตัวแทน” จะเป็นโดยการแต่งตั้งแสดงออกโดยชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้ เนื่องจากตัวแทนเป็นบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของให้กระทำการแทน จึงต้องรับผิดชอบดูแลทรัพย์สินให้ได้รับความปลอดภัย และต้องชดใช้ถ้าหากเกิดความเสียหายต่อทรัพย์นั้น ตัวแทนจึงมีสิทธิที่จะเอาประกันภัยทรัพย์นั้นได้ ส่วนได้เสียในฐานะตัวแทนมักจะเกิดในกรณีประกันวินาศภัย เช่น เจ้าของคลังสินค้ารับมอบอำนาจจากเจ้าของสินค้าหรือผู้นำสินค้ามาฝากให้ช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินนั้นให้ได้รับความปลอดภัย โดยเจ้าของคลังสินค้าออกใบประทวนสินค้าให้แก่ผู้ฝากหรือเจ้าของสินค้า ถ้าเกิดความเสียหายแก่สินค้าในคลังสินค้าเจ้าของคลังสินค้าจะต้องชดใช้ให้กับเจ้าของสินค้าหรือผู้ฝากสินค้าหรือผู้ถือใบประทวนสินค้านั้น

ดังนั้นเจ้าของคลังสินค้ามีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าที่รับฝากได้โดยระบุให้เจ้าของสินค้าเป็นผู้รับประโยชน์หรือถ้าไม่ระบุชื่อผู้ฝากสินค้าหรือจะระบุให้ผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้เสียในสินค้านั้นเป็นผู้รับประโยชน์ก็ได้โดยระบุว่า “To Whom It May Concern”

2.   กรณีประกันชีวิต
2.1   เป็นเจ้าของชีวิตหรือร่างกายนั้น
บุคคลย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตของตนเองคือการเป็นเจ้าของชีวิตหรือร่างกายนั้นตามข้อกำหนดในกฎหมายจึงย่อมเอาประกันชีวิตตนเองได้ แต่ถ้าซื้อประกันขีวิตบุคคลอื่น ตนเองต้องมีส่วนได้เสียในชีวิตผู้นั้นด้วย ซึ่งส่วนได้เสียนี้อาจเกิดจากความสัมพันธ์ทางด้านครอบครัว สายเลือดเดียวกันโดยมีการแจ้งจดทะเบียนในทะเบียนบ้านและในสูติบัตร ทะเบียนสมรส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร สำหรับญาติพี่น้องต้องพิสูจน์ว่ามีการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ตลอดจนส่วนได้เสียอันเกิดจาการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน เพื่อร่วมกันทำกิจการค้าขายหรือร่วมลงทุนซึ่งพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตของห้างหุ้นส่วน

2.2  ผู้เป็นเจ้าหนี้

สำหรับเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากลูกหนี้ย่อมเกิดความเสียหายได้ถ้าลูกหนี้ถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บทุพพลภาพ ดังนั้นเจ้าหนี้จึงมีส่วนได้เสียในชีวิตลูกหนี้ เจ้าหนี้สามารถจะเอาประกันชีวิตลูกหนี้ได้โดยจำนวนเงินเอาประกันเท่ากับยอดเงินที่กู้ยืม และเจ้าหนี้เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตลูกหนี้ดังกล่าว

2.3   ผู้มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย
บุคคลที่มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย เช่นนายจ้างที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อการปฏิบัติหน้าที่และชีวิตของลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างได้รับอันตรายหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการทำปฏิบัติงาน ส่วนได้เสียของนายจ้างสามารถทำประกันภัยได้

กรณีบริษัทประกันภัยซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าความเสียหายให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์บริษัทประกันภัยจึงมีส่วนได้เสียในทรัพย์หรือชีวิตที่เอาประกันภัยบริษัทรับประกันภัยนั้นมีสิทธิที่จะเอาประกันภัยได้ด้วยวิธีการเอาไปประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยอื่น เช่น บริษัทไทยรับประกันภัยต่อแห่งประเทศไทย (The Thai Re-Insurance of Thailand)  รับทำประกันภัยโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งซึ่งมีวงเงินคุ้มครอง จำนวน 100 ล้านบาท แต่บริษัทมีขีดความสามาถที่จะรับไว้ได้เองเพียง 60 ล้านบาท ซึ่งเรียกลักษณะการรับประกันภัยประเภทนี้ว่า “ภาระในการเสี่ยงภัย (Retention)” ส่วนจำนวนเงินที่เหลืออีก 40 ล้านบาท บริษัทประกันภัยนำ ก. ก็นำไปประกันภัยต่อหรือเรียกว่า “ประกันช่วง (Re-Insurance)” กับบริษัทประกันภัยอื่นในประเทศหรือนอกประเทศก็ได้ เช่น บริษัทไทยรับประกันภัยต่อแห่งประเทศไทย บริษัทรับประกันภัยต่อประเทศเยอรมัน  หรือในประเทศอังกฤษ  ฯลฯ ซึ่งบริษัทประกันภัย ก. สามารถทำได้ เพราะบริษัทมีส่วนได้เสียในโรงงานน้ำตาลด้วย

สาระสำคัญของส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สามารถพิจารณาได้ดังนี้

1.   ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีกรรมสิทธิ์ สิทธิ์ ประโยชน์ หรือความรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งสามารถตีราคาเป็นเงินได้

2.  ผู้เอาประกันจะต้องมีกรรมสิทธิ์ สิทธิ หรือประโยชน์เหล่านั้นจะต้องมีอยู่เหนือตัวทรัพย์ หรือความรับผิดชอบอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะที่ทำสัญญาประกันภัย

3.   ผู้เอาประกันมีความผูกผันกับวัตถุที่เอาประกันภัยในกรณีที่จะเกิดประโยชน์กับเขาหากวัตถุที่เอาประกันภัยนั้นจะปลอดจากวินาศภัยหรือปลอดจากความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากวินาศภัยนั้น

ความผูกพันระหว่างผู้เอาประกันภัยกับวัตถุที่เอาประกันนั้นจะต้องเป็นไปตาม
                                     
1.   วินาศภัยที่เกิดขึ้นจะต้องมีผลกระทบต่อการสูญเสียเงินทอง (Financial Loss) เช่น เจ้าของสินค้ามีสิทธิประกันภัยความเสียหายในสินค้าของตน หรือผู้รับจำนำสินค้ามีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าที่ตนรับจำนำไว้ และในกรณีเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์มีสิทธิทำประกันภัยรถยนต์ของผู้อื่นทุกคันที่นำมาซ่อมในอู่ของตน


2. ตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์มาตราที่ 863 ได้บัญญัติไว้ว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

ดังนั้น ถ้าหากในระว่างสัญญาประกันภัย การเสี่ยงภัยได้หมดไปหรือวัตถุที่เอาประกันหมดไปหรือได้มีการโอนวัตถุที่เอาประกันไปให้ผู้อื่นแล้ว ส่วนได้เสียในเหตุประกันนั้นก็จะหมดไปด้วย ซึ่งจะทำให้สัญญาประกันภัยนั้นไม่มีผลผูกพันกับผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุประกันภัยนั้นต่อไป.


ตัวอย่างเช่น
1.  นาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่งได้ขายบ้านหลังนั้นให้แก่นาย ข. ไปแล้วส่วนได้เสียของนาย ก. ที่ทำประกันอัคคีภัยบ้านหลังนั้นก็สิ้นสุดลง

 2. เมื่อนาย จ. ได้ไถ่ถอนบ้านที่เขาจำนองไว้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์เรียบร้อยแล้วส่วนได้เสียของธนาคารอาคารสงเคราะห์ในบ้านหลังนั้นที่ธนาคารเคยรับจำนองไว้ก็เป็นอันสิ้นสุดลง

ผู้รับผลประโยชน์
ตามมาตรา 862 กล่าวว่า  “ผู้รับประโยชน์หมายความว่า บุคคลผู้พึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้” อนึ่งผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์จะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ในการปฏิบัติผู้รับประกันจะต้องพิจารณาผู้รับประโยชน์ในกรมธรรมควรจะเป็นบุคคลต่าง ๆ ดังนี้
1.      ผู้เอาประกันภัย
2.      บิดา มารดาของผู้เอาประกันภัย
3.      ภรรยาหรือสามีของผู้เอาประกันภัย
4.      บุตรของผู้เอาประกันภัย
5.      เจ้าหนี้
6.      บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
7.      กองมรดกในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้ระบุว่าใครเป็นผู้รับประโยชน์ ดังในมาตรา 897 “ถ้าผู้เอาประกันได้เอาประกันไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนมิได้เจาะจงระบุหรือผู้หนึ่งผู้ใดได้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้พึงเอาเป็นทรัพย์สินแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”
                        
ในกรณีผู้รับประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยไว้จะเป็นใครก็ได้ ถ้าในข้อสัญญาหรือในเงื่อนไขไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้แต่อย่างไรก็ตามในความจริงแล้วการที่บริษัทประกันภัยจะรับประกันภัยนั้น ผู้รับประโยชน์ควรจะต้องมีส่วนได้เสียกับผู้เอาประกันภัย เพราะถ้าไม่มีส่วนได้เสียแล้วผู้รับประโยชน์อาจจะฆ่าผู้เอาประกันภัยเพื่อหวังเงินประกันก็ได้

สรุปได้ว่า ในการประกันภัยนั้น ผู้เอาประกันจะต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุหรือเหตุที่เอาประกันภัยนั้น ถ้าไม่มีส่วนได้เสียจะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

ตัวอย่างเช่น
นาย ก. เป็นตัวแทนประกันชีวิตได้จัดการให้นาย ข. เอาประกันชีวิตได้กับบริษัทหนึ่งโดยนาย ก. เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันและกรมธรรม์ระบุให้นาย ก. เป็นผู้รับประโยชน์ โดยนาย ก. ไม่มีส่วนได้เสียหรือมีความสัมพันธ์ใด ๆ ในการเอาประกันชีวิตของนาย ข. เมื่อนาย ข. ตายภายในกำหนดระยะเวลาการเอาประกัน นาย ก. จะไม่ได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เพราะถือว่า นาย ก.ไม่มีส่วนได้เสีย

ขนาดเงินทุนประกันภัย และขนาดของส่วนได้เสีย

1. ขนาดเงินทุนประกันภัย  การเอาประกันภัยของผู้มีส่วนได้เสียในกรณีประกันวินาศภัยและประกันชีวิตนั้น ได้มีการกำหนดขนาดจำนวนวงเงินเอาประกันภัยไว้ว่าไม่เกินส่วนได้เสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุร้ายที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ เช่น เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปโดยมีหลักทรัพย์วางค้ำประกันในวงเงิน 100,000 บาท เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเอาประกันภัยทรัพย์ที่เป็นหลักประกันได้ในวงเงิน 100,000 บาท บวกกับดอกเบี้ยที่จะได้รับจากเงินกู้ดังกล่าวเท่านั้น ในทำนองเดียวกันถ้าผู้กู้ยืมไม่มีหลักทรัพย์วางค้ำประกันเงินกู้ ผู้กู้ยืมอาจทำประกันชีวิตของตนเองในวงเงินเอาประกันบวกด้วยจำนวนดอกเบี้ยโดยการระบุชื่อเจ้าหนี้เป็นผู้รับประโยชน์ ได้เช่นเดียวกัน

2.   ขนาดของส่วนได้เสีย  โดยทั่วไปส่วนได้เสียกำหนดได้โดยจำนวนความเสียหายหรือสูญเสียอันอาจประเมินเป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าได้ ที่บุคคลหนึ่งจะได้รับถ้ามีภัยเกิดขึ้น กล่าวคือ

-     ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดย่อมมีส่วนได้เสียเท่ากับจำนวนแห่งทรัพย์
-     ผู้เป็นเจ้าของร่วม ย่อมมีสิทธิในส่วนได้เสียเท่ากับส่วนที่ตนเป็นเจ้าของ
-   ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เช่าทรัพย์สินไปตลอดนั้น ย่อมมีส่วนได้เสียเท่ากับจำนวนทรัพย์ที่ตนได้ครอบครอง
-   ผู้รับจ้างทำของ  ผู้รับซ่อม  ผู้ดูแล ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของทรัพย์สินที่มอบไว้แก่ตน บุคคลดังกล่าวนี้ย่อมมีส่วนได้เสียเท่ากับจำนวนทรัพย์สินที่ตนได้ครอบครองไว้

กำหนดเวลาของส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย

การทำประกันวินาศภัย หรือการทำประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องมีส่วนได้เสียในขณะที่ทำสัญญา ยกเว้น กรณีการประกันภัยทางทะเล ซึ่งผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสียในขณะที่ทำสัญญาประกันภัยก็ได้ แต่จะต้องมีส่วนได้เสียในขณะที่เกิดเหตุเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์จึงจะมีสิทธิได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์จึงจะมีสิทธิได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัย  เช่นผู้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยทำการขนส่งสินค้าทางทะเลได้ทำการประกันภัยสินค้าที่ตนสั่งซื้อโดยการสั่งนั้นใช้เงื่อนไขแบบ F.O.B (Free on Board) ตามเงื่อนไขนี้ผู้ซื้อสินค้ายังไม่มีกรรมสิทธิ์และยังไม่ต้องจ่ายเงินค้าสินค้า ให้แก่ผู้ขายจนกว่าสินค้านั้นจะขนลงเรือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ถือว่าผู้ซื้อสินค้ายังไม่มีส่วนได้เสียในสินค้าของช่วงระหว่างการขนส่งจากโรงงานหรือโกดังสินค้าของผู้ขายไปยังเรือสินค้า ถ้าสินค้าเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งจากแหล่งผู้ขายไปยังเรือบรรทุกสินค้า ผู้สั่งซื้อสินค้าก็ไม่มีสิทธิได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย

แต่ในกรณีกลับกัน ถ้าเกิดเหตุร้ายซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายระหว่างที่สินค้าอยู่ในเรือสินค้าแล้ว ผู้ซื้อสินค้ามีกรรมสิทธิ์ในสินค้า ผู้ซื้อสินค้าจึงมีส่วนได้เสียในขณะที่เกิดเหตุเสียหาย และมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยได้ โดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะจ่ายตามมูลค่าที่เสียหายที่แท้จริงไม่เกินจำนวนวงเงินเอาประกัน  ซึ่งต่างจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีการประกันชีวิต ซึ่งจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้กำหนดมูลค่าหรือจำนวนเงินชดใช้จำนวนที่แน่นอนชัดเจนไว้ล่วงหน้าแล้ว

โดยทั่วไปการประกันภัยจะพิจารณาเวลาที่จะต้องมีส่วนได้เสียนั้นให้ถือเอาในขณะทำสัญญาประกันภัยเป็นเกณฑ์ ซึ่งหมายความว่าในขณะตกลงทำสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ทำประกันภัยนั้นสัญญาประกันภัยจึงจะใช้ได้ แต่ถ้า “ส่วนได้เสียหมดสิ้นไปหลังจากทำสัญญาแล้ว”แต่ระยะเวลาการคุ้มครองในสัญญาประกันภัยยังไม่สิ้นสุดหรืออายุคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวยังไม่หมด การพิจารณาชดใช้เงินค่าเสียหายจำแนกวินิจฉัยออกเป็น 2 กรณี ดังนี้


1. กรณีประกันวินาศภัย การเอาประกันทรัพย์สินในทางประกันวินาศภัยเกิดขึ้นหลังจากส่วนได้เสียหมดสิ้นไปแล้ว ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์หมดสิทธิ์ ที่จะเรียกร้องเงินค่าชดใช้จากบริษัทประกันภัย เพราะไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด (ป.พ.พ. มาตรา 877)


ตัวอย่างเช่น

นาย ก. ทำประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้  500,000 บาท โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี จากวันที่ 1 มกราคาม ถึงวันที่ 1 ธันวาคม หลังจากสัญญาประกันอัคคีภัยเริ่มมีผลใช้บังคับต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม นาย ก. ได้บอกขายบ้านหลังที่เอาประกันภัยไว้โดยขายและจดทะเบียนโอนโฉนดกันเรียบร้อยแล้วในวันที่ตกลงซื้อขายกัน ซึ่งถือว่าส่วนได้เสียในบ้านของนาย ก. ได้หมดสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่โอนบ้านให้แก่ผู้ซื้อ ต่อมาเกิดเพลิงไหม้บ้านหลังดังกล่าว นาย ก. จะเรียกร้องบริษัทที่รับประกันภัยให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเดิมไม่ได้เพราะตนไม่มีส่วนได้เสียในบ้านหลังที่ขายโดยไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นแล้ว

2. กรณีประกันชีวิต  การเอาประกันชีวิตถึงแม้ส่วนได้เสียจะหมดไปแล้วถ้าสัญญาประกันชีวิตยังมีผลใช้บังคับอยู่ด้วยการส่งชำระเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่อง ภายหลังภัยได้เกิดขึ้น ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตได้ เช่น สามีทำประกันชีวิตภรรยาไว้ ต่อมาสามีภรรยาคู่นี้เกิดการหย่ากัน สามีซึ่งเอาประกันชีวิตภรรยาของตนก็ยังส่งเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สัญญายังมีผลบังคับใช้อยู่เสมอ ต่อมาภรรยาได้ตาย สามีหรือผู้รับประโยชน์ สามารถเรียกร้องขอรับเงินเอาประกันชีวิตได้จากบริษัทประกันชีวิตดังกล่าว


4.2 หลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง  (Utmost Good Faith)

เนื่องจากสัญญาประกันภัยต้องอาศัยเหตุการณ์ ในอนาคตอันไม่แน่นอนมาเป็นปัจจัยในการกำหนดการชำระค่าสินไหมทดแทนของผู้รับประกันภัย โดยผู้รับประกันภัยจะต้องอาศัยข้อมูลต่าง ๆ ของ  ผู้เอาประกันภัยเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้ารับเสี่ยงภัยหรือไม่ ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของการเสี่ยงภัยนั้นของผู้เอาประกันให้ผู้รับประกันภัยทราบโดยละเอียดหน้าที่การเปิดเผยข้อความจริงตามหลักสุจริตอย่างยิ่งนี้ ปัจจุบันใช้เป็นหลักของสัญญาประกันภัยในทุกประเทศ

หลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง หมายถึง  คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ได้แก่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย จะต้องมีความเป็นสุจริตในใจในการทำสัญญาต่อกัน โดยการเปิดเผยข้อความจริงการไม่แถลงข้อความเท็จ และการรับรองว่าจะปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย

ตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ มาตราที่ 865 กล่าวว่า “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัยก็ดีหรือกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงิน ย่อมอาศัยการทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วจะเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัย ให้เรียกร้องประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”


หลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง ในกฎหมายจะบัญญัติไว้  ดังนี้
                       
1. ผู้เอาประกันภัย จะต้องแถลงข้อความอันเป็นจริงทุกอย่างให้ผู้รับประกันภัยหรือตัวแทนเขาทราบ ถ้าแถลงข้อความอันเป็นเท็จสัญญาจะเป็นโมเฆียะไป นอกจากนี้การที่ผู้เอาประกันรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงที่จะเป็นเหตุให้ผู้รับประกันไม่รับประกัน หรืออาจรับแต่เรียกร้องเบี้ยประกันสูงสัญญาก็เป็นโมเฆียะ

2. ผู้รับประกันภัย มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามปกติวิญญูชน (คือผู้รับประกันภัยทั่วๆ ไปควรใช้ความระมัดระวังที่จะสืบสานจนสามารถรู้ข้อความจริงนั้นได้หรือไม่) เรื่องที่ควรจะรู้ถึงข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ด้วยถ้ารู้แล้วรับประกันไปสัญญาก็สมบูรณ์ หรือถ้าไม่รู้แต่น่าจะได้รู้ ถ้าระมัดระวังบ้างสัญญาก็สมบูรณ์จะอ้างว่าผู้เอาประกันแถลงเท็จมาอ้างให้พ้นความรับผิดไม่ได้ (มาตรา 865-866

สาระสำคัญที่ถือว่าปฏิบัติหลักความสุจริตต่อกันอย่างยิ่ง สามารถพิจารณาได้ดังนี้

1. การไม่เปิดเผยข้อความจริง (Non-Disclosure) 
หมายถึง การเปิดเผยข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญ (Material Fact) ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นของผู้เอาประกัน ทั้งที่เป็นข้อรู้เห็นโดยแท้ (Actual Knowledge) และข้อที่น่าจะรู้เห็น (Presumed Acknowledge) อันเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบโดยไม่ต้องสอบถามการไม่เปิดเผยข้อความจริงนี้ในบางกรณี เรียกว่า การปกปิดข้อความจริง (Concealment) แต่ในการตีความนั้นกรณีจะถือว่าเป็นการปกปิดข้อความจริงก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัย มีเจตนาจะปกปิดข้อความจริงนั้นไม่ให้ผู้รับประกันภัยทราบ ซึ่งมีผลทำให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา865   ข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญซึ่งผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบ มักจะเป็นสิ่งซึ่งมีการเสี่ยงภัยมากกว่าปกติและเกี่ยวเนื่องกับสภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ซึ่งผู้รับประกันภัยจะให้ความสนใจเป็นพิเศษในการพิจารณาว่าจะรับประกันภัยนั้นหรือไม่และถ้าหากรับประกันภัยได้ จะรับในอัตราเบี้ยประกันภัยปกติหรือจะต้องคิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นหรือจะต้องกำหนดเงื่อนไขพิเศษในการรับประกันภัยนั้น เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น
กรณีที่นาย ก. นำรถยนต์ของตนที่เพิ่งเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุไปเฉี่ยวชนต้นไม้ มาขอทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบว่ารถยนต์ของตนเพิ่งไปเกิดอุบัติเหตุมาและมีส่วนใดของรถที่เสียหายบ้าง นอกจากนั้นนาย ก. ยังมีเจตนาที่จะทุจริตต่อบริษัทโดยการแจ้งเคลมความเสียหายจากอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นกับรถคันนี้ก่อนที่บริษัทตกลงจะรับประกันภัยด้วย ในกรณีเช่นนี้ ถือว่านาย ก. ไม่เปิดเผยข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญให้บริษัทราบ ซึ่งถ้าหากบริษัททราบข้อความจริงนี้ก่อนก็จะปฏิเสธการรับประกันภัยรถยนต์คันนี้อย่างแน่นอน บริษัทประกันภัยแห่งนี้จึงสามารถจะใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865

2. การแถลงข้อความเท็จ (Misrepresentation)
หมายถึง การที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องตอบข้อซักถามของบริษัทประกันภัยในขณะขอทำสัญญาประกันภัยให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งจะกระทำโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรตามแต่กรณี การแถลงหรือตอบข้อซักถามที่เป็นความเท็จ ทำให้สัญญาประกันตกเป็นโมฆียะ เช่นเดียวกับการเปิดเผยข้อความจริงหรือการปกปิดข้อความจริง

ตัวอย่างเช่น
แพทย์ได้วินิจฉัยว่านาย ข. ป่วยด้วยโรคมะเร็งในตับระยะที่ 3 และแพทย์ได้ลงความเห็นว่า นาย ข.คงจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่เกิด 1 ปี นาย ข. จะมาขอทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งเป็นเงิน 100,000 บาท เพื่อจะได้มีหลักประกันให้แก่ครอบครัวภายหลังจากที่ตนเสียชีวิตลง ซึ่งนาย ข.ทราบจากตัวแทนว่าตามระเบียบบริษัทแล้ว วงเงินทุนประกัน 100,000 บาทนี้ ไม่ต้องมีการตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิตแต่อย่างไร เพียงแต่กรอกรายละเอียดในใบคำขอเอาประกันชีวิตเท่านั้น ซึ่งนาย ข.เพียงแต่กรอกรายละเอียดในคำถามข้อที่ว่า “ท่านเคยป่วยหรือวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่” ว่า “ไม่” เท่านั้น ซึ่งบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นก็ไม่ได้ตรวจสุขภาพของนาย ข. ก่อนการรับประกันแต่อย่างไร เนื่องจากเป็นวงเงินทุนประกันที่ต่ำ หลังจากที่บริษัทตกลงรับประกันชีวิตของนาย ข. ไปได้ 8 เดือน นาย ข.ก็เสียชีวิตลงซึ่งบริษัทก็มีความสงสัยจึงได้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการสืบเสาะจนได้หลักฐานแน่ชัดว่า นาย ข. เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในตับ

 ในกรณีเช่นนี้ ถือว่านาย ข. ได้แถลงข้อความเท็จที่เป็นสาระสำคัญ (Material Misrepresentation) ต่อการพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัท ซึ่งถ้าหากบริษัททราบข้อความจริงนี้ตั้งแต่ต้น บริษัทก็จะปฏิเสธการรับประกันชีวิตของนาย ข. อย่างแน่นอน ในกรณีเช่นนี้ บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นสามารถใช้สิทธิในการบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนั้นได้ทันทีตามประมาณกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865

3. คำรับรอง (Warranties)
หมายถึง  การที่ผู้เอาประกันภัยให้คำรับรองต่อผู้รับประกันภัยว่า ผู้เอาประกันภัยจะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการเสี่ยงภัยของผู้รับประกันภัยเช่นผู้เอาประกันภัยจะไม่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ในอาคารที่เอาประกันภัยหรือผู้เอาประกันภัยจะต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงติดตั้งอยู่ในอาคารที่เอาประกันภัย คำรับรองโดยทั่วไปจะต้องเขียนไว้ชัดเจนในสัญญาประกับภัย การปฏิบัติผิดคำรับรองหรือการไม่ปฏิบัติตามคำรับรองมีผลเท่ากับการปฏิบัติผิดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย ผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาประกันภัยได้

4.3   หลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  (Principle of Indemnity)
หมายถึง  เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นอันเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ทำประกันภัยไว้  ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหม  ให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ  ตามความเสียหายแท้จริงที่เกิดขึ้น  รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการที่ผู้เอาประกันภัยได้จ่ายไปเพื่อรักษาทรัพย์ ไม่ให้เกิดความเสียหายสูงจากภัยที่เกิดขึ้น  แต่ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ต้องไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้

ตัวอย่างเช่น
ผู้เอาประกันภัยทำประกันอัคคีภัยบ้านโดยมีทุนประกันจำนวน 1 ล้านบาท เมื่อเกิดเพลิงไหม้บางส่วนและประเมินความเสียหายออกมาเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ผู้เอาประกันภัยบ้านหลังดังกล่าวจะได้เงินค่าสินไหมทดแทนตามที่เสียหายจริงคือ 500,000 บาท ถ้าเพลิงไหม้เสียหายทั่งหมดหรือทั้งหลัง บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่ากับจำนวนทุนที่เอาประกันภัยไว้คือ 1 ล้านบาท

แนวคิดนี้เป็นการเป็นการป้องกันมิให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์หวังผลกำไรจากการเกิดเหตุที่เอาประกันภัยไว้ จึงกำหนดให้ผู้รับประกันภัย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่ เกิดขึ้นจริงเท่านั้น   และป้องกันไม่ให้เกิดภัยขึ้นเพราะความไม่ซื่อสัตย์ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะจะปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  877 ที่บัญญัติว่า “ผู้รับประกันภัยจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน” ดังนี้คือ 

1.  เพื่อจำนวนวินาศภัย อันแท้จริง
2. เพื่อความบุบสลาย อันเกิดแก่ ทรัพย์สิน ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ เพราะได้จัดการ ตามสมควร เพื่อป้องปัด ความวินาศภัย
3. เพื่อบรรดาค่าใช้จ่าย อันสมควร ซึ่งได้เสียไป เพื่อรักษา ทรัพย์สิน ซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้น มิให้วินาศ 
อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่ และ ในเวลา ซึ่งเหตุวินาศภัยนั้น ได้เกิดขึ้น อนึ่ง จำนวนเงิน ซึ่ง ได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นหลักประมาณ อันถูกต้อง ในการตีราคา เช่นว่านั้น

การชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริงนี้ยึดหลักปฏิบัติเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สถานะเดิมเหมือนเมื่อก่อนเกิดวินาศภัยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้โดยวิธีการดังนี้
1. การจ่ายเป็นตัวเงิน (Cash Payment) วิธีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นตัวเงินนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและก่อให้เกิดสภาพคล่อง
2.การซ่อมแซม (Repair) วิธีนี้จะเหมาะในกรณีที่เกิดความเสียหายเพียงบางส่วนและอยู่ในวิสัยที่จะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้
3.  การหาของมาทดแทน (Replacement) เป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องหาสิ่งที่เป็นชนิด ประเภท และคุณภาพเดียวกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมาทดแทนให้ โดยจะไม่จ่ายเป็นตัวเงินให้ผู้เอาประกันภัยไปหาซื้อเองหรือจะไม่ซ่อมแซมให้ เพราะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยชนิดนั้นอาจเป็นทรัพย์สินที่โดยสภาพของกานใช้สอยไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้วิธีนี้มักใช้กับสังหาริมทรัพย์
4.   การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม (Reinstatement) การจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยวิธีนี้เป็นการทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้กลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนเกิดวินาศภัย ซึ่งไม่สามารถกระทำได้โดยวิธีซ่อมแซมหรือหาของทดแทน เช่น โรงงานถูกเพลิงไหม้หรือระเบิดเสียหายทั้งหมด ผู้รับประกันภัยจะก่อสร้างโรงงานนั้นขึ้นใหม่ เพื่อให้โรงงานนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม
   
หมายเหตุ ;- หลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริงนี้เป็นหลักชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัย ไม่สามารถนำมาใช้กับการประกันชีวิตได้

4.4 หลักการรับช่วงสิทธิ (Principle of Subrogation)

หมายถึง  การกำหนดสิทธิของบริษัทประกันภัยว่าจะสามารถรับช่วงสิทธิทั้งปวงของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องเงินชดใช้จากบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 ผู้ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินหรือวัตถุที่ได้เอาประกันภัยไว้ เมื่อบริษัทประกันภัยได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริงให้แก่ผู้เอาประกันภัย หลักที่กำหนดว่าผู้รับประกันภัยและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นการกระทำของบุคคลภายนอก

ตัวอย่างเช่น
การที่รถของนาย ก. ซึ่งทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ไว้กับ บริษัทประกันภัย A ถูกรถของนาย ข. ชนท้ายได้รับความเสียหาย ภายหลังจากที่บริษัทประกันภัย A ได้ดำเนินการซ่อมแซมรถของนาย ก.ให้กลังคืนสู่สภาพเดิมแล้ว
บริษัทประกันภัย   A  จะรับช่วงสิทธิจากนาย ก. ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคืน
จากนาย ข.ซึ่งเป็นผู้ละเมิดขับรถมาชนท้ายรถของนาย ก. จนได้รับความเสียหาย หรือถ้าหากนาย ข.ทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัทประกันภัย B บริษัทประกันภัย A ก็สามารถรับช่วงสิทธิจากนาย ก.ไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนคืนจาก บริษัทประกันภัย B ได้โดยตรง

การจำแนกหลักในการรับช่วงสิทธิ  สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประการคือ

1.      การรับช่วงสิทธิในค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยได้จ่ายไป
2.      การรับช่วงสิทธิในซากทรัพย์

1.   การรับช่วงสิทธิในค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยได้จ่ายไป  
            การพิจารณาการรับช่วงสิทธิในกรณีนี้มีลักษณะทั้ง 3 ประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  880  มีดังนี้
            1.1     ต้องเป็นการประกันวินาศภัย
            1.2     วินาศภัยนั้นเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก
            1.3     บริษัทประกันวินาศภัยได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว
หลักนี้ใช้สำหรับในกรณีที่บุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เอาประกันวินาศภัยโดยเฉพาะ
หลักการรับช่วงสิทธิได้ถูกบัญญัติขึ้น เพื่อให้มีความสัมพันธ์กับหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง เพื่อให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ก่อวินาศภัยนั้นต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ตนได้กระทำขึ้นตามกฎหมาย และเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนไปตามค่าเสียหายที่แท้จริงแล้วไม่สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนนั้นจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ก่อความเสียหายได้อีก เพราะสิทธิดังกล่าวผู้รับประกันภัยได้รับช่วงไปแล้วตามกฎหมาย ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเดียวกันทั้งจากผู้ก่อวินาศภัยและผู้รับประกันภัยไม่ได้ และไม่ว่ากรณีใดผู้รับประกันภัยจะรับช่วงสิทธิ์เกินกว่าจำนวนที่ตนจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปไม่ได้

วินาศภัยที่อยู่ในความรับผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนั้น มีทั้งกรณีที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำของมนุษย์ และกรณีที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ฟ้าผ่า อุทกภัย วาตภัย เป็นต้น แต่การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นวินาศภัยที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์เท่านั้น และผู้ก่อให้เกิดวินาศภัยนั้นจะต้องไม่ใช้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประประโยชน์เพราะการเกิดวินาศภัยด้วยความทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ถือว่าเป็นสภาวะภัยทางศีลธรรมที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยอยู่แล้ว

จากกรณีดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าหลักการรับช่วงสิทธิกับหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การที่ผู้รับประกันภัยจะรับช่วงสิทธิจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของตนได้ ต้องเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากเกิดวินาศภัยที่อยู่ในความรับผิดตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น การจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยสำคัญผิดว่าตนมีความรับผิดตามสัญญาประกันภัย เช่นสำคัญว่าผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยหรือโดยสำคัญผิดว่ากรมธรรม์ประกันภัยมีผลใช้บังคับในขณะเกิดวินาศภัยก็ดี ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย อย่างไรก็ตามการเกิดวินาศภัยในบางกรณีมีปัญหาว่าอยู่ในความรับผิดตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ ซึ่งการจะตีความให้ยุติผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยไม่ประสงค์จะทำเช่นนี้ จึงตกลงจ่ายเงินจำนวนหนึ่งซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “สินไหมกรุณา (Ex-Gratia Payment)” ให้ผู้เอาประกันภัยรับไปบรรเทาความเสียหายนั้นผู้รับประกันภัยย่อมไม่ได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมาย

ฉะนั้น ในการประกันวินาศภัยถ้าบริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด หากภัยนั้นเกิดจากการก่อขึ้นของบุคคลภายนอกแล้วบริษัทประกันภัยก็ได้รับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาเงินจำนวนที่จ่ายไปแล้วนั้นคืนจากำบุคคลภายนอนได้

2.   การรับช่วงสิทธิในซากทรัพย์
การรับช่วงสิทธิในซากทรัพย์จะเกิดขึ้นเฉพาะในการประกันวินาศภัยเท่านั้นซึ่งภายหลังเกิดภัยขึ้นมาแล้วทำให้เกิดความเสีย หายมีซากทรัพย์สินเหลือซึ่งยังมีราคาค่างวดอยู่บ้างเช่น เครื่องจักรของโรงงานที่ถูกเพลิงไหม้กลายเป็นซากเครื่องจักรใช้งานไม่ได้อีก อิฐหักกากปูนโครงสร้างเหล็กของอาคาร ตัวตึกที่ถูกเพลิงไหม้ ซากรถยนต์ที่พังยับเยิน ซากเรืออับบางที่อาจกู้คืนมาได้เหล่านี้ก็อาจมีราคาที่เป็นมูลค่าได้ทั้งนั้น

ตัวอย่างเช่น
กรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 วันที่ทำประกันภัยทุนประกันภัยของรถยนต์ตั้งแต่ 80 % ของราคารถ ณ วันที่ทำประกันภัย หากเกิดความเสียหายกับตัวรถบริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายตามทุนประกันไปแล้วผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถให้กับบริษัทผู้รับประกันภัย
หากในกรณีที่รับประกันภัยต่ำกว่า 80 % ของราคารถ ณ วันที่ทำประกันภัย
หากเกิดความเสียหายกับตัวรถบริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายตามทุนประไปแล้วผู้เอาประกันภัยไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถให้กับบริษัทผู้รับประกันภัย

หมายเหตุ ;- หลักการรับช่วงสิทธิ เป็นหลักชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัย ไม่สามารถนำมาใช้กับการประกันชีวิตได้เพราะสัญญาประกันชีวิตไม่ใช้สัญญาชดใช้ค่าเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริง หากความตายเกิดจากการกระทำของบุคคลที่ภายนอกหรือบุคคลที่ 3 กฎหมายให้ถือสิทธิเป็นของผู้รับประโยชน์หรือทายาทของผู้เอาประกันชีวิตที่จะไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอนนั้นได้อีกด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  896 หลังจากได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิต  ผู้รับประโยชน์หรือทายาทของผู้เอาประกันชีวิตสามารถเรียกร้องได้ทั้ง 2 ทาง ดังนั้นหลักการรับช่วงสิทธิจึงไม่มีในกรณีการประกันชีวิต

4.5 หลักการเฉลี่ย (Principle of Contribution)
หลักการนี้เป็นหลักการที่สืบเนื่องมาจากหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจริง และหลักการรับช่วงสิทธิ ของสัญญาประกันวินาศภัยที่ได้กล่าวไว้ในครั้งที่แล้ว ซึ่งจะใช้กับการประกันภัยที่มีผู้รับประกันภัยมากกว่า 1 ราย ในวัตถุที่เอาประกันภัยอันเดียวกันในความเสี่ยงภัยเดียวกัน และในส่วนได้เสียอันเดียวกัน ผู้รับประกันภัยแต่ละรายก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยจากภัยที่เกิดขึ้นตามอัตราส่วน ของสัญญาประกันภัยแต่ละฉบับ ผู้รับประกันภัยรายใด ที่ชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของตนไปมากเกินกว่าอัตราส่วนที่จะต้องจ่ายสำหรับวินาศภัยที่มีผู้รับประกันภัยหลายรายนั้นก็สามารถ จะเรียกร้องส่วนที่ตนจ่ายเกินอัตราส่วนของผู้รับประกันภัยรายอื่น ๆ  โดยการเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย

หลักการอีกประการหนึ่ง คือหากผู้เอาประกันภัยมีการทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย 2 ราย หรือมากกว่านั้น เพื่อวินาศภัยอันเดียวกัน และมีจำนวนทุนประกันภัยรวมกันทั้งหมดมากเกินกว่าจำนวนมูลค่าทรัพย์สินนั้นแล้ว ตามกฎหมายระบุว่าผู้รับประโยชน์ หรือผู้เอาประกันภัย จะได้รับชำระค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอ หรือเท่ากับจำนวนที่เสียหายจริงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้เอาประกันภัยได้กำไรจากการประกันภัย และผู้รับประกันภัยแต่ละรายก็ต้องชดใช้จำนวนค่าสินไหมทดแทนแบ่งตามอัตราส่วนมากน้อย ตามจำนวนทุนประกันภัยที่แต่ละรายรับประกันไว้

สาระสำคัญหลักการเฉลี่ยความเสียหาย จะเกิดขึ้นต้องประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
1. มีกรมธรรม์ประกันวินาศภัยสองฉบับหรือมากกว่านั้น (Two or more policies) ตามหลักสากลแล้วหากมีสัญญาประกันภัยมากกว่าหนึ่งฉบับ ผู้รับประกันภัยทุกรายจะต้องเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนตามอัตราส่วนกับจำนวนทุนประกันภัยของ แต่ละรายไม่ว่าจะรับประกันภัยไว้พร้อมกันหรือไม่
หากแต่ว่ากันตามกฎหมายไทยแล้ว หลักการนี้จะใช้ได้เฉพาะกรณีที่มีการทำสัญญาประกันภัยพร้อมกันเท่านั้น เพราะถ้ามีการทำสัญญาประกันภัยต่างวันกันแล้วผู้รับประกันภัยรายแรกจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนจนกว่าจะครบความรับผิดชอบของตน หากยังไม่ครบกับความเสียหายที่แท้จริงแล้ว ผู้รับประกันภัยรายต่อมาก็จะต้องชดใช้ค่าสินไหมจนครบความคุ้มครองของตนมีข้อสังเกตว่ากฎหมายไทยให้ใช้คำว่าสัญญาประกันภัยไม่ใช่กรมธรรม์ประกันภัย
ดังนั้น จึงยึดเอาวันทำสัญญาประกันภัยเป็นหลัก ไม่ใช่วันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยในการตีความว่าผู้รับประกันภัยรายใดต้องรับผิดชอบเป็นรายแรก


ตัวอย่าง การประกันภัยทรัพย์สินเท่ากับมูลค่าที่แท้จริงโดยทำประกันมากกว่าหนึ่งบริษัท เช่นนาย ก. ได้นำบ้านซึ่งมีมูลค่า 600,000 บาท ไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัย 3 ราย โดยทำประกันไว้กับบริษัทต่าง ๆ ดังนี้
                        บริษัท กทุนประกันเท่ากับ   180,000 บาท
                        บริษัท ขทุนประกันเท่ากับ   160,000 บาท
                        บริษัท คทุนประกันเท่ากับ   260,000 บาท
                        เมื่อบ้านเกิดความเสียหายแต่ละรายจะต้องเฉลี่ยความรับผิดชอบตามสัดส่วนที่รับประกันไว้ดังนี้
            วงเงินที่แต่ละบริษัทจะต้องร่วมเฉลี่ย =      มูลค่าที่เอาประกัน       x   ความเสียหาย
                                                                     มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน
บริษัท กรับผิดชอบเท่ากับ  180,000       x          600,000      =   180,000   บาท
                                                600,000
บริษัท ขรับผิดชอบเท่ากับ  160,000       x          600,000       =   160,000   บาท
                                               600,000
บริษัท ครับผิดชอบเท่ากับ  160,000       x          600,000       =  260,000   บาท
                                                600,000                              600,000   บาท

ตัวอย่าง การประกันภัยทรัพย์สินเท่ากับมูลค่าที่แท้จริงโดยทำประกันมากกว่าหนึ่งบริษัทและมีการทำสัญญาประกันภัยต่างวันกัน  กฎหมายระบุว่าบริษัทแรกต้องจ่ายก่อนถ้าไม่พอค่าเสียหายจึงจะเรียกจากบริษัทลำดับถัดไปจนกว่าจะคุ้มความเสียหาย
นาย ก. ได้นำบ้านซึ่งมีมูลค่า 600,000 บาท ไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัย 3 ราย โดยทำประกันไว้กับบริษัทต่าง ๆ ดังนี้
                        1 ม.ค. 51          ประกันไว้กับบริษัท ก.  ทุนประกันเท่ากับ   300,000 บาท
                        1 เม.ย. 51         ประกันไว้กับบริษัท ข.  ทุนประกันเท่ากับ   200,000 บาท
                        1 พ.ค. 51         ประกันไว้กับบริษัท ค.  ทุนประกันเท่ากับ   100,000 บาท

ต่อมาเกิดความเสียหายบางส่วนคิดเป็นมูลค่า 550,000 บาท ดังนั้น
บริษัท  ก.  รับผิดชอบ   300,000 บาท
บริษัท  ข.  รับผิดชอบ   200,000 บาท
บริษัท  ค.  รับผิดชอบ    50,000 บาท

2. กรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นต้องคุ้มครองส่วนได้เสียอันเดียวกัน (Same Interest) หมายถึง ส่วนได้เสียที่เอาประกันภัยจะต้องเป็นอันเดียวกัน เช่น เจ้าของบ้านประกันอัคคีภัยบ้านของตนหลังหนึ่งไว้กับบริษัทประกันภัย A จำนวนทุนประกัน 1,000,000 บาท ในขณะที่ผู้เช่าก็ทำประกันอัคคีภัยบ้านหลังเดียวกันนั้นกับบริษัทประกันภัย B อีก จำนวนทุนประกัน 500,000 บาท เช่นกัน โดยที่ทั้งคู่ต่างก็มีส่วนได้เสียในตัวบ้านหลังเดียวกัน

3. กรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นต้องคุ้มครองภัยชนิดเดียวกัน (Same Peril) หมายถึง วินาศภัยที่ระบุให้คุ้มครองในสัญญาประกันภัยทุกฉบับ จะต้องเป็นวินาศภัยเดียวกัน เช่น กรมธรรม์อัคคีภัยให้ความคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ก็จะต้องเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยเช่นเดียวกันนี้ทุกกรมธรรม์

4. กรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นคุ้มครองวัตถุที่เอาประกันภัยเดียวกัน (Same Peril) หมายถึง วัตถุที่เอาประกันภัยต้องเป็นวัตถุอันเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นการประกันภัยทรัพย์สินหรือไม่ เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งมีวัตถุที่เอาประกันภัยเป็นความรับผิดตามกฎหมายก็อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อนี้ด้วย

5. กรมธรรม์แต่ละฉบับจะต้องมีผลบังคับอยู่ในขณะเกิดวินาศภัยขึ้น กรมธรรม์แต่ละฉบับนั้นจะต้องมีผลความคุ้มครองหรือมีผลบังคับได้ในขณะเกิดวินาศภัยขึ้น โดยไม่หมดอายุหรือถูกบอกเลิกเป็นโมฆียะ

หมายเหตุ ;- อย่างไรก็ตามหลักการเฉลี่ยนี้จะไม่นำมาใช้กับสัญญาประกันภัยบางประเภทเช่น การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือการประกันชีวิต ไม่ว่าผู้เอาประกันภัยจะประกันภัยไว้กี่รายก็ตาม สัญญาประกันภัยทุกฉบับที่ทำไว้ก็จะต้องชำระค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง หรือตามทุนประกันภัย ทั้งนี้เนื่องจากชีวิต หรืออวัยวะของมนุษย์ไม่สามารถตีราคาได้ จึงไม่ถือว่าได้ส่วนเกินหรือกำไรจากสัญญาประกันภัยแต่อย่างใด

4.6  หลักสาเหตุใกล้ชิด (Principle of Proximate Cause)

เป็นหลักซึ่งกำหนดให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากสาเหตุใกล้ชิดกับภัยที่ทำประกันภัยไว้
สาเหตุใกล้ชิด  คือ  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน (Unbroken chain of events) และเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ได้รับไว้ในสัญญาประกันภัยเป็นหลักการประกันภัย
หลักการสำคัญประการหนึ่งของสาเหตุใกล้ชิด  คือ ความเสียหาย หรือสูญเสียที่เกิดขึ้นจากวินาศภัยใดๆ จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ หรือสัญญาประกันภัยก็ต่อเมื่อ สาเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายนั้นเป็นสาเหตุที่ใกล้ชิด หรือใกล้เคียงที่สุดกับภัยที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ความเสียหายหรือวินาศภัยที่เกิดกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ในทางปฏิบัติจะมีปัญหาการตีความค่อนข้างมาก เนื่องจากความเสียหาย หรือสูญเสียของทรัพย์สินจากวินาศภัยต่างๆ นั้น บ่อยครั้งที่ไม่เกิดเหตุการณ์หรือสาเหตุเดียวแต่มักจะมีเหตุการณ์หรือสาเหตุอื่นมาแทรกซ้อน หรือบรรจบกันหลายประการ

ตัวอย่างเช่น
กรณีที่ 1 ผู้เอาประกันภัยได้ประกันภัยอุบัติเหตุพร้อมทั้งประกันภัยรถยนต์ไว้ ต่อมาเกิดอุบัติเหตุรถตกข้างทางทำให้รถเสียหาย และผู้เอาประกันภัยบาดเจ็บไม่สามารถเดินได้ จึงต้องนอนอยู่ที่เกิดเหตุ เพื่อรอความช่วยเหลือ ปรากฏว่าที่เกิดเหตุอยู่ห่างไกลชุมชน ไม่มีผู้มาพบเห็นประกอบกับเป็นเวลากลางคืนที่อากาศหนาวเย็นมาก ผู้เอาประกันภัยทนความหนาวไม่ได้ถึงแก่ความตาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์เดียวต่อเนื่องโดยตลอด โดยไม่มีเหตุการณ์อื่นเข้ามาแทรก
ฉะนั้น   กรมธรรม์ประกันประกันอุบัติเหตุให้ความคุ้มครองความเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตเพราะความหนาวก็ตาม แต่ก็มีสาเหตุโดยตรงมาจากอุบัติเหตุรถตกข้างทาง ในขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ก็ยังให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตอีกเช่นกัน

กรณีที่ 2. ผู้เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุในทำนองเดียวกันคือรถตกถนน ได้รับบาดเจ็บ แต่มีคนผ่านมาพบเข้าจึงนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้หมอทำการรักษา แต่ปรากฏว่าหมอให้ยาผิดพลาดหรืออาจจะติดเชื้อหวัดมรณะจากคนไข้ในโรงพยาบาล ทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ในกรณีนี้กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุหรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ จะไม่คุ้มครองการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัย
เนื่องจากผู้เอาประกันภัยไม่ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตกถนน  แต่เสียชีวิตจากความบกพร่องของแพทย์ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ไม่ได้เกิดต่อเนื่องกัน โดยมีปัจจัยหรือสาเหตุอื่นมากแทรกแซงก่อน คือการทำงานบกพร่องของแพทย์ หรือการติดเชื้อไข้หวัดนั่นเอง


กรณีที่ 3 เกิดเพลิงไหม้บ้านหนังหนึ่งพนักงานดับเพลิงต้องฉีดน้ำสกัดไฟยังบ้านที่อยู่ข้างเคียงซึ่งได้ทำประกันอัคคีภัยไว้ เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามมาไหม้ทำให้ทรัพย์สินในบ้านนั้นได้รับความเสียหาย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าความเสียหายเกิดจากการฉีดน้ำเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ไม่ขาดตอนและเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากเพลิงไหม้

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัย

กรณีที่ 4   บ้านหลังหนึ่งเกิดเพลิงไหม้และซากกำแพงถูกทิ้งไว้ต่อจากนั้น 7 วันหลังจากเพลิงไหม้ ได้เกิดพายุที่รุนแรงเป็นเหตุให้กำแพงล้มลงทับทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย
เหตุการณ์นี้ บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้อันเนื่องมาจากการเกิดเหตุนั้นมาจากเหตุที่ใกล้ชิดคือเกิดจากเพลิงไหม้มิใช้เกิดจากลมพายุ

สาระสำคัญของหลักสาเหตุใกล้ชิด  ซึ่งผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมีดังนี้
1. ภัยที่รับประกันไว้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
2. ความเสียหายอื่นใดที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัย นอกจากภัยที่ประกันไว้แล้ว หากเกิดจากความพยายามปกป้องความเสียหายก็ย่อมจะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เกิดไฟไหม้ขึ้น แต่สินค้าที่เอาประกันภัยเสียหายจากน้ำที่ใช้ในการฉีดดับเพลิงก็จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมด้วยเช่นกัน เนื่องจากการฉีดน้ำดับเพลิงนั้นเป็นสาเหตุใกล้ชิดจากไฟไหม้ และเป็นความพยายามที่จะป้องกันความเสียหายจากไฟไหม้นั้น
3.  เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอนและไม่มีเหตุการณ์อื่นใดเข้ามาแทรก ทำให้ขาดตอนหรือสะดุดลง ดังเช่นตัวอย่างข้างต้น หากระหว่างเกิดเหตุไฟไหม้ปรากฏว่าทรัพย์สินบางอย่างถูกขโมยไป ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากไม่ใช่สาเหตุใกล้ชิด คือ ไฟไหม้แต่เป็นเหตุการณ์อื่น คือ เกิดจากคนมาลักทรัพย์
4. ในกรณีที่มีภัยหลายชนิดเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ภัยชนิดแรกไม่ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายมากหรือน้อยจะต้องเป็นสาเหตุใกล้ชิด แม้ว่าภัยที่มาทีหลักจะทำให้เกิดความเสียหายกับวัตถุที่เอาประกันมากกว่าก็ตาม


สนใจเลือกทำประกันภัย วางใจเลือกสินมั่นคงประกันภัย ด้วยเบี้ยที่ไม่แพง พร้อมบริการสะดวก รวดเร็ว โทร 1596 หรือ www.smk.co.th
ขอบคุณรูปภาพ Photo source : pexels.com

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.