Ads Top

SMK Insurance

ที่มาของสัญญาประกันภัย



            การประกันภัยมีมานานหลายพันปีแล้ว  เท่าที่ค้นพบได้  เมื่อประมาณ  3,000  ปีก่อน  คริสกาลในประเทศจีน  โดยแนวคิดเริ่มจากกลุ่มพ่อค้าที่ต้องมีการเดินทางไปค้าขายตามที่ต่างๆ  และมักประสบภัยจากการเดินทางไปค้าขาย เช่น  เรือล่ม , ถูกโจรปล้น  ทำให้หมดเนื้อหมดตัว  พ่อค้าจึงรวมกลุ่มที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  และทำการตกลงกันด้วยปากเปล่า  ด้วยวิธี  กลุ่มพ่อค้ารวมกลุ่มกันเอาเงินมาไว้เป็นกองกลาง  และจัดคนดูแล     เงินกองกลาง  ในกรณีที่เกิดภัยและมีความเสียหายตามที่ตกลงกัน  ก็จะนำเงินกองกลางมาชดใช้  ซึ่งการประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล  จึงเป็นประกันวินาศภัยแรกที่เกิดขึ้น

ดังนั้น  การประกันภัย  หมายถึง  การเฉลี่ยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่น  โดยมีผู้รับประกันภัยทำหน้าที่เป็น  คนกลาง  คอยเฉลี่ยความเสียหายให้โดยผู้ที่จะเข้าทำประกันภัย จะจ่ายเงินไม่มากนักเรียกว่า  เบี้ยประกันภัย  ให้แก่  ผู้รับประกันภัย  ซึ่งจะรวบรวมเป็นเงินกองกลาง และหากมีความเสียหายจากภัยที่ตกลงคุ้มครองกันไว้  ผู้รับประกันภัยก็จะนำเงินกองกลางชดใช้ความเสียหายตามจำนวนที่ตกลงกัน  โดยมีหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับประกันภัยอยู่  6  ประการ  คือ

1.  หลักส่วนได้เสียอันสามารถเอาประกันภัยได้   (Insurable  interest) หมายถึง  ผู้เอาประกันภัย  ต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือ มีสิทธิ หรือ มีประโยชน์ หรือ มีความรับผิดตามกฎหมาย ในวัตถุที่เอาประกันภัย  เช่น  การเป็นเจ้าของ , การเป็นเจ้าหนี้ในทรัพย์ที่เอาประกันภัย  (ธนาคาร) , การมีส่วนได้เสียอันเกิดจากสัญญา  (ตัวอย่าง : เจ้าของอาคารทำสัญญาให้ผู้เช่าอาคารรับผิดชอบค่าเสียหายถ้าเกิดอัคคีภัยในอาคารที่เช่า  ดังนั้นถือว่า  ผู้เช่ามีส่วนได้เสียในอาคารนั้น)  หรือ ในกรณีมีส่วนได้เสียจากการรับผิดตามกฎหมาย เช่นนายจ้างที่ต้องรับผิดชอบกฎหมายต่อชีวิตลูกจ้าง  เป็นต้น

2.  หลักสุจริตใจอย่างยิ่ง (Principle  of  utmost  good  faith)  มีรากฐานมาจากการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง  เพราะผู้รับประกันภัยจะไม่ทราบสภาพลักษณะ และจำนวนที่แท้จริงของสินค้าที่ขนส่ง  เนื่องจากสินค้าอาจอยู่ในระหว่างขนส่งทางทะเล หรือ สินค้ายังอยู่ต่างเมือง  ผู้รับประกันภัย  จึงต้องพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ  ที่ผู้เอาประกันภัยแจ้ง  และนำมาพิจารณาในการรับประกันภัย  ดังนั้นหลักสุจริตใจอย่างยิ่ง  จึงเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญ  ซึ่งหมายถึง  การที่ผู้เอาประกันภัย  และผู้รับประกันภัยมีความสุจริตใจในการทำสัญญาต่อกัน  โดยเปิดเผยข้อความจริง  (Disclosure)  ไม่แถลงข้อความเท็จ หรือ การปกปิดข้อความจริง  ในข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญต่อการเสี่ยงภัย  และรับรองว่า  จะปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย

3.  หลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Principle  of  indemnity)  หมายถึง  เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นอันเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ทำประกันภัยไว้  ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหม  ให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ  ตามความเสียหายแท้จริงที่เกิดขึ้น  รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการที่ผู้เอาประกันภัยได้จ่ายไปเพื่อรักษาทรัพย์ ไม่ให้เกิดความเสียหายสูงจากภัยที่เกิดขึ้น  แต่ค่าสินไหมทดแทนนั้น  ต้องไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้

แนวคิดพื้นฐานข้อนี้เกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้เอาประกันภัย  แสวงหากำไรจากการทำประกันภัย และป้องกันไม่ให้เกิดภัยขึ้นเพราะความไม่ซื่อสัตย์ของผู้เอาประกันภัย  ซึ่งหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  จะปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  877  ที่บัญญัติว่า  ผู้รับประกันภัยจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ดังนี้คือ 
       1)   เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
      2)   เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์  ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้  เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย และ
        3)   เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควร  ซึ่งได้เสียไป  เพื่อรักษาทรัพย์สิน ซึ่งเอาประกันภัยไว้
 4.  หลักการสวมสิทธิ์ หรือ การรับช่วงสิทธิ์ (Principle  of  subrogation) หมายถึง  หลักที่กำหนดว่าผู้รับประกันภัย  จะสามารถสวมสิทธิ์ทั้งปวง ของผู้เอาประกันภัยจะเรียกจากบุคคลภายนอก    ผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย  และผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว  โดยจะเรียกเกินจำนวนที่จ่ายสินไหมไม่ได้

หลักการข้อนี้เกิดขึ้น  เพื่อวัตถุประสงค์ไม่ให้ผู้เอาประกันภัยแสวงหากำไร  โดยอาจเรียกร้องค่าเสียหาย  2  ทาง  คือ  ทั้งบริษัทรับประกันภัย  และ จากผู้ก่อความเสียหาย  แ ละอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง  เพื่อให้บุคคลภายนอกผู้ก่อเหตุต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนก่อขึ้น
5.  หลักการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  (Doctrine of contibution)  หมายถึง  การมีผู้รับประกันภัยตั้งแต่  2  รายขึ้นไป  ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริงต่อวัตถุที่ได้รับประกันภัยในวัตถุและภัยเดียวกัน  โดยมีหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน   ดังนี้

        =  กรณีสองบริษัท  ร่วมรับประกันภัยพร้อมกัน (Co-Insurance) ก็จะใช้วิธีเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทน   ตามสัดส่วนที่รับประกันภัยไว้
            =  กรณีที่    บริษัทรับประกันภัย  ไม่ได้รับประกันภัยพร้อมกัน  บริษัทในลำดับแรกต้องเป็นผู้ชดใช้ก่อน  และบริษัทที่รับประกันภัยลำดับต่อมาจะชดใช้ในส่วนที่ขาด  แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนประกันภัยที่ทำไว้

6.  หลักสาเหตุใกล้ชิด    (Doctrine  of  Proximate  Clause)  หมายถึง  หลักซึ่งกำหนดให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  อันเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใกล้ชิดกับภัยที่เอาประกันภัยไว้  ซึ่งสาเหตุใกล้ชิดเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง  โดยไม่ขาดตอนและเป็นผลโดยตรงจากภัยที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย 

ตัวอย่างเช่น  บ้านนาย  ก. เกิดไฟไหม้ พนักงานดับเพลิงต้องฉีดน้ำบ้านข้างเคียงกัน  เพื่อสกัดไฟไม่ให้ลุกลาม  ทำไห้ทรัพย์สินภายในบ้านข้างเคียงได้รับความเสียหาย  ถ้าพิจารณาแล้วว่า  ความเสียหายที่เกิดจากการฉีดน้ำเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ขาดตอน  และเป็นผลโดยตรงจากไฟไหม้ที่ทำประกันอัคคีภัยไว้  บริษัทที่รับประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ  ในความเสียหายของทรัพย์สินบ้านที่ติดกันด้วย
      
            หลักพื้นฐานแนวคิดทั้ง  6  ประการนี้  เป็นหลักที่สำคัญในการประกันภัย  และนำมากำหนดเป็นกฎหมายในการธุรกิจประกันภัย

การประกันวินาศภัยภาคเอกชนในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย  การประกันวินาศภัยเริ่มเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา  โดยเริ่มจากการประกันภัยทางทะเลและขนส่งก่อน   เพราะมีพ่อค้าต่างประเทศเข้ามาทำการค้าขาย  และเริ่มมีกฎหมายครั้งแรกเรียกว่า  พระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัท  รศ. 130  หรือ พ.ศ.  2454  และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เมื่อ  1  มกราคม  2468  ที่กำหนดว่า  การประกอบธุรกิจประกัน  จะต้องได้รับ    พระบรมราชานุญาติก่อน  และได้มีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน  โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกันวินาศภัยที่สำคัญ  คือ

1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บรรพ 3  หมวด 6  ลักษณะ  20  ว่าด้วยการประกันภัย มาตรา  861  ถึง  มาตรา  897  ซึ่งการประกันวินาศภัยจะอยู่ในมาตรา  869  ถึง  มาตรา 888  บังคับใช้  เมื่อ 1  เมษายน  2472  เป็นต้นมา
 2.  พระราชบัญญัติ  ประกันวินาศภัย  พ.ศ.  2535  บังคับใช้  เมื่อ   11  เมษายน  2535  เป็นต้นมา
             3. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  พ.ศ.  2535  บังคับใช้ เมื่อ10  เมษายน  2535  เป็นต้นมา

4.            พระราชบัญญัติประมวลรัษฎากร  และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร  ฉบับที่  33  พ.ศ.  2541  บังคับใช้เมื่อ  1  มกราคม  2542  เป็นต้นมา  ซึ่งกำหนดให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม  (VAT)    ซึ่งเดิมจะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแบบเดียวกับการประกันชีวิต

นอกจากนี้ยังมี กฎกระทรวง   คำสั่ง   และ ประกาศ ของกรมการประกันภัยที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้อีกหลายฉบับ  รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  2540  ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนด้วย
           ซึ่งปัจจุบันการประกันวินาศภัย  (Non  Life  Insurance)  แบ่งตามการคุ้มครองออกเป็น  3  ประเภทใหญ่ๆ  คือ

=  สัญญาประกันภัยบุคคล  (Personal  Insurance)  เป็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และชีวิตของบุคคล  ดังนั้น  ทรัพย์ หรือ วัตถุที่จะมาเอาประกันภัย คือ บุคคลที่เอาประกัน  สำหรับประกันวินาศภัย  ได้แก่  การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ,  การประกันสุขภาพ , การประกันภัยการเดินทาง  เป็นต้น

            =  สัญญาการประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน  (Property  Insurance)  ซึ่งตัวทรัพย์จะเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย  รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุจากสาเหตุภายนอกร่างกาย
ก่อให้เกิดความเสียหายความสูญเสียทางร่างกาย  อนามัย  ชีวิต  โดยผู้เอาประกันภัยต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย  เช่น  การเป็นเจ้าของทรัพย์  หรือการเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์โดยชอบตามกฎหมาย
            ซึ่งปัจจุบัน  การประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่จะทำกันมากในประเทศไทย  ได้แก่  การประกันอัคคีภัย, การประกันภัยทางทะเลแลขนส่ง, การประกันภัยรถยนต์,  การประกันภัยเบ็ดเตล็ด  ซึ่งสามารถแยกออกเป็นประกันภัยประเภทต่างๆ  ได้มากมาย  เช่น  การประกันภัยเครื่องจักร,  การประกันภัยก่อสร้าง, การประกันภัยสินค้า,  การประกันธุรกิจหยุดชะงัก  เป็นต้น

            =  สัญญาประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิด  (Insurance  Of  Liability)  ซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมแก่บุคคลอื่นแทนผู้เอาประกันภัย  ซึ่งต้องรับผิดตามกฎหมาย  (Legal  Insurance)  ต่อทรัพย์สินหรือความเสียหายนั้น  เช่น  ความรับผิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไปก่อความเสียหาย หรือ ละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้อื่น , ความรับผิดของคณะกรรมการและผู้บริหาร  (Directors  and  officers  Insurance) , ความรับผิดต่อสาธารณะ  (Public  Liability)  หรือ ความรับผิดตามกฎหมายโดยเฉพาะ  ได้แก่  ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  ซึ่งเป็นประกันภัยภาคบังคับตามกฎหมาย  ตาม พ.ร.บ.  คุ้มครองผู้ประสบจากรถ  พ.ศ. 2535  เป็นต้น  โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  887  บัญญัติให้บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหาย  มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย  จากผู้รับประกันภัยโดยตรงได้

            ตัวอย่างเช่น กรณีรถทัวร์ได้ทำประกันภัยรถยนต์ ทั้งภาคบังคับตามกฎหมาย  (พ.ร.บ.)  และประกันภัยรถยนต์ประเภท 3  (คือ คุ้มครองเฉพาะคู่กรณี ถ้าเป็นฝ่ายผิด)  รวมทั้ง  ยังได้ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล  สำหรับผู้โดยสารไว้อีกคนละ  2  แสนบาทด้วย

            เมื่อประมาณ  เดือนมีนาคม 2550  ที่ผ่านมาได้เกิดอุบัติเหตุที่  อ. มวกเหล็ก  จ. สระบุรี  มีผู้เสียชีวิต  33  คน  บาดเจ็บอีกส่วนหนึ่ง  บริษัท ทิพยประกันภัยฐานะเป็นผู้รับประกันภัย  ต้องรับผิดทางแพ่งแทนเจ้าของรถทัวร์  โดยบริษัทต้องรับผิดชอบในการจ่ายสินไหม  ดังนี้
            เฉพาะกรณีผู้เสียชีวิต  จะได้รับค่าสินไหมตามการประกันภัยคุ้มครองตามกฎหมาย  (พ.ร.บ.)  1  แสน  และจากการคุ้มครองตามประกันภัยอุบัติเหตุ  ส่วนบุคคลอีก  2  แสน  รวมจ่ายค่าสินไหมทดแทน  3  แสนบาทต่อคน  เป็นต้น

            สำหรับผู้บาดเจ็บก็มีการจ่ายตามค่ารักษาพยาบาล ตามที่คุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัย

ลักษณะพิเศษของสัญญาประกันภัย

            สัญญาประกันภัย  นับได้ว่าเป็น  สัญญาในทางการค้า (Commercial  Contract) 
ซึ่งสัญญาประกันภัยมีลักษณะการเกิดเช่นเดียวกับสัญญาทั่วไป  อาทิเช่น  เป็นการตอบตกลงกันระหว่างบุคคล  2  ฝ่าย / คู่สัญญามีเจตนาที่จะก่อให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย  /  มีค่าต่างตอบแทนระหว่างคู่สัญญา / คู่สัญญาต้องมีความสามารถในการทำสัญญาตามกฎหมาย / การทำสัญญาต้องมีวัตถุประสงค์ไม่ขัดต่อกฎหมาย  เป็นต้น  โดยสัญญาประกันภัยจะมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้รับประกันภัย  และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า  ผู้เอาประกันภัย  ต่างมีสัญญาต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  861  บัญญัติว่า  สัญญาประกันภัยนั้น  คือ สัญญาที่บุคคลหนึ่งตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณี  หากเกิดวินาศภัยขึ้น  หรือเหตุการณ์อย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุในสัญญา และในกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย   และ คำว่า วินาศภัย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  869  ได้ขยายความหมายไว้ว่า  รวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ  ซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้  ดังนั้นความเสียหายต่อทรัพย์สิน  ร่างกาย  และอาจถึงแก่มรณะ  สามารถพึงประเมินชดใช้ความเสียหายเป็นตัวเงินได้  หากแต่ความเจ็บปวดความเศร้าโศก  ไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเงินได้  จึงไม่ใช่เป็นวินาศภัย  และในสัญญาประกันภัยจะมี   ลักษณะพิเศษเฉพาะของสัญญาประกันภัย  ที่แตกต่างจากสัญญาทั่วไปอยู่  5ประการ    ดังนี้ 

1.            เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีค่าตอบแทนไม่เท่าเทียมกัน

            โดยปกติสัญญาทั่วไป มักจะมีค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน  เพราะคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะรักษาผลประโยชน์ของตน  แต่ในสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียงเล็กน้อย  หากเมื่อเกิดภัยตามที่ได้รับการคุ้มครองในสัญญาผู้รับประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ในจำนวนเงินที่สูงกว่าเบี้ยประกันภัยเป็นจำนวนมาก

            ตัวอย่างเช่น  รถยนต์ของหมูแฮม  (นายกัณฑ์พิทักษ์  ปัจฉิมสวัสดิ์)  ที่เกิดเหตุในครั้งนี้ปรากฏว่า  รถยนต์ได้ทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือ พ.ร.บ.  ไว้  เท่านั้น  โดยนายหมูแฮมจะจ่ายเบี้ยประกันภัยรวมภาษีอากรเพียง  752.21  บาท  แต่บริษัทผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบในค่าสินไหมทดแทน  ดังนี้
            =  กรณีผู้เสียชีวิต  รายละ  1  แสนบาท
            =  กรณีบาดเจ็บ  จ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน  50,000  บาทต่อรายเป็นต้น
  
2.            เป็นสัญญาที่อาศัยเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอน

 สัญญาต่างตอบแทนโดยทั่วไป  คู่สัญญาจะมีหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกัน  โดยรู้จำนวนที่ต้องชำระต่อกันที่แน่นอน
            หากแต่สัญญาประกันภัย  ผู้รับประกันภัยจะไม่ทราบจำนวนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนว่าจะเป็นจำนวนเท่าไหร่  เพราะวินาศภัยที่คุ้มครองอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ในอนาคต
3.            เป็นสัญญาที่ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตต่อกันเป็นอย่างยิ่ง

 ความสุจริตใจถือว่าเป็นข้อสำคัญในการที่คู่สัญญาต้องมีต่อกัน  ไม่ว่าจะทำสัญญาประเภทไหนก็ตาม  ซึ่งในสัญญาทั่วไป  ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อความจริงทั้งหมด  ถ้าอีกฝ่ายไม่ได้ถาม  เช่น  การขายสินค้า  บางครั้งผู้ขายก็ไม่จำเป็นต้องบอกข้อเสียของสินค้านั้นก็ได้

            แต่ในกรณีสัญญาประกันภัย  เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนไม่เท่าเทียมกัน  เพราะผู้เอาประกันภัยจ่ายเบี้ยประกันภัยเพียงเล็กน้อย หากเกิดภัยตามที่คุ้มครองผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนในจำนวนที่สูงกว่ามากหลายเท่า  ดังนั้น  สัญญาประกันภัยจึงกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย ต้องเปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ  โดยไม่ต้องมีการสอบถาม  รวมทั้งไม่แถลงข้อความอันเป็นเท็จ  หรือ  ปกปิดข้อความจริง  ทั้งนี้เพื่อ  ให้ผู้รับประกันภัยพิจารณาตัดสินใจว่าจะรับประกันภัยหรือไม่   หรือกำหนดเงื่อนไขในการรับประกันภัยได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  865

            การเปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ  อาทิเช่น  ทรัพย์สินตั้งอยู่ใกล้สถานที่เก็บวัตถุไวไฟ ,  ประวัติการเกิดเหตุมาก่อนในอดีต , ประเภทการใช้สถานที่   เป็นต้น  ซึ่งหากภายหลังจากรับประกันภัยแล้วบริษัทผู้รับประกันภัยพบว่า  ผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วแต่ไม่เปิดเผยข้อความจริง   ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญมีผลต่อ  การเสี่ยงภัยที่สูงขึ้นมาก  หรือ บริษัทอาจไม่รับทำประกันภัย  สัญญานั้นจะเป็นโมฆียะได้   โดยบริษัทมีสิทธิ์บอกล้างได้ภายใน  1  เดือนนับแต่ทราบความจริง และ ไม่เกิน  5  ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันภัย  แต่ถ้าบริษัททราบข้อความจริงแล้ว  แต่บริษัทไม่ดำเนินการบอกล้าง  ถือว่าสัญญาประกันภัยนั้นยังคงอยู่ต่อไป  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา  865

            หรือ  กรณีที่ผู้เอาประกันภัย  ได้ทำประกันภัยไว้กับหลายบริษัท  ผู้เอาประกันภัยต้องแถลงข้อความจริงให้บริษัทรับประกันภัยทราบ  เพื่อการตัดสินใจในการรับประกันภัย  ทั้งนี้  หากบริษัทตกลงใจในการรับประกันภัยขึ้น  โดยสัญญาประกันภัยมีผลบังคับเรียงลำดับก่อน หลัง  เมื่อเกิดเหตุขึ้นตามความคุ้มครองแห่งสัญญาประกันภัยแล้ว  บริษัทที่รับประกันภัยเป็นลำดับแรก   ต้องรับผิดชอบในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อน  และหากเงินค่าสินไหมทดแทนนั้นต่ำกว่าทุนประกันภัย  บริษัทที่รับประกันภัยลำดับถัดไป  ก็จะรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ขาด  แต่ถ้ากรณีที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับพร้อมกัน  บริษัทที่รับประกันภัยก็จะแชร์จ่ายร่วมกันตามสัดส่วนที่ได้รับประกันภัยไว้  แต่ต้องเป็นไปตามความเสียหายแห้จริง  และ  ไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 870

4.            เป็นสัญญาที่ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย

            ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  863  บัญญัติ  ให้ผู้เอาประกันภัย  จะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ทำประกันภัยไว้  มิฉะนั้น  สัญญาประกันภัย  ดังกล่าว  จะไม่ผูกพันคู่สัญญา  ซึ่งหมายถึงคู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่เกิดขึ้น

            การที่กฎหมายกำหนดข้อนี้ไว้เพื่อป้องกันการทำลายชีวิตและทรัพย์สินเพื่อหวังเอาเงินประกัน

            คำว่า  มีส่วนได้เสีย  หมายถึง  ถ้ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น  และบุคคลผู้ที่ได้รับประโยชน์  หรือ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นั้น  ถือว่าบุคคลนั้นได้มีส่วนได้เสียและสามารถเอาประกันได้
           การมีส่วนได้เสียในสัญญาประกันวินาศภัย  ได้แก่ 
4.1 ผู้เอาประกันภัยต้องมีกรรมสิทธิ์  สิทธิประโยชน์  หรือ  ความรับผิดตามกฎหมายในทรัพย์สินเป็นวัตถุที่ทำประกันภัยไว้ในขณะที่ทำสัญญาประกันภัย  เช่น  เจ้าของทรัพย์ที่เอาประกันภัย หรือ  ผู้รับขนส่งสินค้าสามารถทำประกันภัยขนส่งสินค้าที่ตนต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของสินค้าได้  เป็นต้น

4.2 ส่วนได้เสียนั้นต้องสามารถประเมินออกมาเป็นตัวเงินได้  เพื่อจะได้ทราบว่าผู้อาประกันภัยจะได้รับเงินเท่าใดเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  869  ที่กำหนดให้จ่ายเป็นตัวเงิน

4.3 กรณีที่ผู้เอาประกันภัย  ได้มีการโอนทรัพย์ที่ทำประกันภัยให้แก่บุคคลอื่น  แล้วส่วนได้เสียของตนก็หมดไป  เช่น  นาย  ก. เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท  ค.  โดยบริษัท ค. กำหนดว่ารถยนต์ต้องทำประกันภัยในนามบริษัท ค.  โดยนาย ก.  ต้องเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยในระหว่างที่ยังมีภาระในการจ่ายงวดการเช่าซื้อรถยนต์อยู่  ซึ่งเมื่อนาย ก.   ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ครบแล้ว  กรณีนี้บริษัท  ค.  ก็ไม่มีส่วนได้เสียกับรถยนต์คันนั้นแล้ว

5.  สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ แต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงจะฟ้องคดีได้
ดังที่ได้พูดไว้แต่ตอนต้นแล้วว่า  สัญญาประกันภัยสามารถเกิดขึ้นได้และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  เมื่อคำเสนอของผู้เอาประกันภัย และ คำสนองตอบรับจากผู้เอาประกันภัยตกลงกันด้วยวาจาเท่านั้น  คู่สัญญาเกิดสิทธิและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาที่พูดตกลงกันทุกประการ   สัญญาประกันภัยจึงเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ   ซึ่งแตกต่างจากสัญญาบางประเภทที่กฎหมายบังคับให้  ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน  เช่น  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  เป็นต้น

แต่ถ้าคู่สัญญาที่ทำสัญญาประกันภัย จะไปฟ้องร้องบังคับคดีกันแล้ว  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  867  กำหนดว่า  ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ซึ่งมีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด  หรือลายมือชื่อของตัวแทนฝ่ายที่ต้องรับผิด  จึงจะสามารถนำไปฟ้องร้องบังคับคดีได้  เช่น  ถ้าผู้เอาประกันภัยจะฟ้องบริษัทที่รับประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีหลักฐานที่แสดงว่า ได้มีการทำประกันภัยไว้ ได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัย  ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัย หรือ เอกสารที่มีลายเซ็นชื่อของบริษัทที่รับประกันภัยหรือ ตัวแทนของบริษัทที่รับประกันภัย  และในทางกลับกัน  ถ้าบริษัทผู้รับประกันภัยจะฟ้องร้อง  ผู้เอาประกันภัย  ก็ต้องมีเอกสารเป็นหลักฐานในการฟ้อง  เช่น  เอกสารแจ้งความประสงค์ที่จะทำประกันภัย   หรือเอกสารที่เรียกว่าใบคำขอเอาประกันภัย  เป็นต้น

สรุปได้ว่า  สัญญาประกันภัย  แม้นจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ก็มีผลตามสัญญาแล้วในทางกฎหมาย เพียงแต่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้เท่านั้น  นอกจากนี้กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำเป็นสัญญากันไว้  ขอเพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่ปรากฏข้อความที่รับฟังได้ว่า  มีการตกลงทำสัญญาประกันภัยและมีลายเซ็นชื่อของฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว  ก็สามารถนำมาฟ้องร้องบังคับคดีได้แล้ว
  
สิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ในสัญญาประกันภัย

เนื่องจากสัญญาประกันภัยมีคุณลักษณะพิเศษ  5  ประการดังกล่าว กรอปกับหลักการของการประกันภัย  มิใช่เป็นการพนัน และ มิใช่เป็นการค้ากำไรซึ่งกันและกัน  ตลอดจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย  กฎหมายจึงกำหนดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้รับประกันภัย  ผู้เอาประกันภัย  และ ผู้รับประโยชน์ที่ต้องปฏิบัติต่อกัน  ซึ่งหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม  อาจมีผลต่อการปฏิเสธความรับผิดตามสัญญา  การบอกเลิกสัญญา  หรือ มีการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา  862  ได้ให้ความหมายของบุคคลเกี่ยวข้องในสัญญาประกันภัย  3  บุคคล  ดังนี้

            1.  ผู้รับประกันภัย  (Insurer)  หมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ เงินจำนวนหนึ่งให้   ซึ่งปัจจุบันผู้รับประกันภัยต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย  พ.ศ. 2535  คือ จัดตั้งในรูป บริษัท จำกัด    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  หรือ จัดตั้งเป็น  บริษัทมหาชน จำกัด  ตามกฎหมายว่าด้วย  บริษัทมหาชน จำกัด  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา  ห้างหุ้นส่วน  จำกัด  หรือ สมาคม  จะเป็นผู้รับประกันภัยไม่ได้

            2ผู้เอาประกันภัย  (Insured)  หมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลก็ได้  จะมีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือ ต่างประเทศก็ได้  และเบี้ยประกันภัยนั้นต้องเป็นตัวเงินเท่านั้นจะเป็นอย่างอื่นแทนไม่ได้
           

3.  ผู้รับประโยชน์  (Beneficiary)  หมายความว่า  บุคคลผู้พึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือ รับจำนวนเงินใช้ให้
            เนื่องจาก  กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิผู้เอาประกันภัย  ในเรื่องการยกประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย  ดังนั้น  ผู้เอาประกันภัยจะยกประโยชน์  ให้แก่  ใครก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นบุคคล  นิติบุคคล  เช่น  ผู้รับประโยชน์ คือ ธนาคารในกรณีมีภาระผูกพันทางสินเชื่อ  หรือ ผู้รับประโยชน์จะเป็นสมาคม  มูลนิธิ  ก็ได้  โดยผู้รับประโยชน์จะมีสิทธิเท่ากับผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในสัญญาประกันภัยเท่านั้น  แต่ถ้ามีการโอนทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไปให้บุคคลอื่น  ผู้รับประโยชน์เดิมก็จะไม่มีสิทธิในสัญญาประกันภัยนั้น      นอกจากนี้ตามมาตรา  891 ยังบัญญัติให้ผู้เอาประกันภัยยังสามารถเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ได้อีก  โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับประโยชน์เดิม  ยกเว้น  ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เดิมได้แจ้งเป็นหนังสือต่อบริษัทผู้รับประกันภัยก่อนแล้วว่า  ประสงค์จะถือประโยชน์แห่งสัญญานั้น  ในกรณีนี้ผู้เอาประกันภัยจะเปลี่ยนผู้รับประโยชน์ไม่ได้


กรมธรรม์ประกันภัยและ
ข้อความที่กำหนดในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

ถึงแม้ว่า  สัญญาประกันภัยมีผลสมบูรณ์ด้วยการตกลงกันด้วยวาจาแล้วก็ตาม  แต่เพื่อให้คู่สัญญาสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้รับประกันภัยมีหน้าที่จัดทำเอกสารขึ้นและส่งมอบให้แก่ผู้เอาประกันที่เรียกว่า  กรมธรรม์ประกันภัย   ซึ่งจะมีข้อความตรงตามสัญญาประกันภัย  เช่น  มีการระบุถึงสาระสำคัญของข้อตกลง,  กำหนดเงื่อนไขระบุความคุ้มครอง , ข้อยกเว้นตามสัญญาประกันภัย  และต้องมีลายมือชื่อของผู้รับประกันภัย  โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  867  บัญญัติว่า  “......................ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย  อันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง  กรมธรรม์ประกันภัยต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการดังต่อไปนี้

            (1)  วัตถุที่เอาประกันภัยเป็นอะไร    (Subject  Matter  Of  Insurance)  เช่น   ต้องระบุประเภททรัพย์สินว่าเป็นบ้านอยู่อาศัย หรือ ทรัพย์สินเป็นอาคารพาณิชย์  และต้องระบุที่ตั้งของทรัพย์สินนั้นด้วย  หรือ กรณีจะประกันความรับผิดก็ต้องระบุความรับผิดให้ชัดเจนในกรมธรรม์

            (2)  ภัยที่ผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง  (Risks)  หมายถึง  ประเภทประกันที่รับประกันภัยไว้  ได้แก่  ประกันอัคคีภัย , ประกันภัยทางทะเล หรือ ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน  เป็นต้น

            (3)  ราคาแห่งมูลประกันภัย   (Insurable  Valued) คือ  ราคาของส่วนได้เสียที่เอาประกันภัย หรือ  เป็นมูลค่าของวัตถุที่เอาประกันภัย  เช่น  บ้านราคา  5 แสนบาท และราคาของส่วนได้เสียของบ้านคือ  5  แสนบาท  ดังนั้น  ราคาแห่งมูลประกันภัยก็จะเท่ากับ  5  แสนบาท  เช่นกัน  ซึ่งข้อนี้กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องระบุไว้ในทุกกรมธรรม์ และ      ส่วนใหญ่ในกรมธรรม์ประกันวินาศภัยจะไม่ทำกัน  เพราะจะใช้จำนวนเงินเอาประกันภัยระบุแทน
            (4)  จำนวนเงินเอาประกันภัย  (Sum  Insured)  หรือ  เรียกว่าทุนประกันภัย  ซึ่งหมายถึงจำนวนเงินที่จะทำประกันภัย  และจะเป็นเงินจำนวนสูงสุด  ที่จะได้รับการชดใช้สินไหมทดแทน   ซึ่งจะตกลงกันไม่ให้มีจำนวนเงินที่ทำประกันภัยสูงกว่า  (Over  Insurance)  หรือทำประกันภัยต่ำกว่า  (Under  Insurance)  มูลค่าแท้จริงของทรัพย์สิน

            (5)  จำนวนเบี้ยประกัน  และ วิธีการส่งเบี้ยประกันภัย  (Premium)  การกำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยต้องชำระเป็นเงินให้แก่ผู้รับประกันภัย  ซึ่งสัญญาจะไม่เกิดผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  หากสัญญาไม่ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยต้องชำระ

            ส่วนวิธีการส่งเบี้ยประกันภัยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของประกันภัย และ เงื่อนไขการส่งเบี้ยประกันภัย  เช่น  ชำระเป็นรายเดือน , รายปี  และอาจไปชำระด้วยตนเองที่บริษัทรับประกันภัย หรือ ชำระผ่านบัตรเครดิต  หรือ ชำระผ่านธนาคาร เป็นต้น  ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุจำนวนเบี้ยประกันภัยและ วิธีการส่งเบี้ยประกันภัยไว้ให้ชัดเจน

            ทั้งนี้  ในการประกันวินาศภัย  กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัย  ผู้รับประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องให้ชำระภายใน  2  ปี  นับแต่วันที่สัญญาประกันภัยเกิด  และบริษัทผู้รับประกันภัย   สามารถปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะได้รับชำระค่าเบี้ยประกันภัย

            (6)  ถ้าสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลาในกรมธรรม์ประกันภัยต้องระบุเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการคุ้มครองไว้ด้วย  โดยส่วนใหญ่การประกันวินาศภัยจะกำหนดอายุการคุ้มครอง  1  ปี  โดยระบุ วัน/เดือน/ปี   และเวลาของการเริ่มต้น และ สิ้นสุดของการคุ้มครอง  เช่น  การประกันอัคคีภัยจะคุ้มครอง 1 มกราคม 2549 เริ่มคุ้มครองเวลา 16.00  น.  เป็นต้น  เว้นแต่  การประกันภัยบางประเภทจะกำหนดตามธรรมเนียมประเพณี  เช่น  การประกันภัยทางทะเล  จะนับการเริ่มมีผลบังคับ ต่อเมื่อมีการขนส่งสินค้าที่ทำประกันภัยจากโกดังต้นทาง  คุ้มครองไปจนถึงการส่งมอบให้แก่  ผู้รับ  ณ  ที่โกดังปลายทาง  และมีกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า  กรมธรรม์เปิด  (Open  Cover)  กรมธรรม์ที่ระบุเฉพาะ  วัน/เดือน/ปี  ที่เริ่มต้นคุ้มครองไว้  แต่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด  ซึ่งจะทำให้ผู้เอาประกันภัย  ได้รับการคุ้มครองตลอดไปจนกว่า  จะมีการขอยกเลิกสัญญา

            (7)  ชื่อ หรือ ยี่ห้อของผู้รับประกันภัย  หมายถึง  บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย  พ.ศ.  2535  ซึ่งจะเป็นบริษัทจำกัด  หรือ บริษัท มหาชน จำกัด  ก็ได้

           (8)  ชื่อ หรือ ยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย  จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ เป็นนิติบุคคลก็ได้  จะต้องระบุชื่ออยู่ในกรมธรรม์

            (9)  ชื่อ หรือ  ยี่ห้อของผู้รับประโยชน์  กรณีที่มีการยกประโยชน์  ให้แก่  บุคคล  หรือ  นิติบุคคลภายนอก  ต้องระบุไว้ในกรมธรรม์ด้วย  อาทิ  การเป็นสินเชื่อของธนาคาร   จะระบุให้ธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ตามภาระผูกพัน  เป็นต้น

         (10)  วันทำสัญญาประกันภัย  หมายถึง  วันที่สัญญาประกันภัยได้เกิดขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย  โดยคำเสนอของผู้เอาประกันภัย และ คำสนองของผู้รับประกันภัยตรงกัน  ไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ตาม  ซึ่งวันทำสัญญาประกันภัยอาจเป็นวันเดียวกัน หรือ ต่างวันกัน กับ วันทำกรมธรรม์ประกันภัยก็ได้  แต่จะเกิดหลังจากวันทำกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้   เพราะคู่กรณีต้องตกลงทำสัญญาประกันภัยเสียก่อน  ผู้รับประกันภัยจึงออกกรมธรรม์ให้

          (11)  สถานที่ และ วันที่ทำกรมธรรม์   ในกรมธรรม์ต้องระบุสถานที่ตั้งของบริษัท หรือ สาขา ของบริษัท  ผู้รับประกันภัย และ วันที่ได้ออกกรมธรรม์ประกันภัย

ในข้อเท็จจริง  กรมธรรม์ประกันภัยไม่จำเป็นต้องมีครบ  11  รายการ  เนื่องจากกฎหมายมิได้บังคับไว้เป็นเด็ดขาด  จะมีน้อยกว่า หรือ มากกว่า  11  รายการก็ได้  เพราะรายการต่างๆ  นั้นมิใช่แบบที่กฎหมายกำหนด หากแต่กรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทต้องเป็นตามแบบ และข้อความที่ระบุในกรมธรรม์ รวมทั้งเอกสารประกอบแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย  จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน  หรือ อธิบดีกรมการประกันภัยก่อน  ซึ่งได้มีการกำหนดโทษ  กรณีที่บริษัทฝ่าฝืน  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  100,000  บาท  ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย  พ.ศ.  2535

ปัจจุบันรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยจะแตกต่างกันไป  ตามประเภทของการประกันภัย  เช่น  ประกันอัคคีภัย , ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ,  ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ , ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน  เป็นต้น  และส่วนใหญ่ตัวกรมธรรม์ประกันภัยจะแบ่งออกเป็นส่วนๆ  ดังนี้
1.1   ส่วนต้นหรือส่วนหัวของกรมธรรม์  (Heading)  ระบุชื่อ  ที่อยู่  และรายละเอียด  ของบริษัทที่รับประกันภัย
1.2  บทนำกรมธรรม์   (Recital  Clause)  ระบุถึงคำเสนอของผู้เอาประกันภัย , ประเภทประกันภัย , การชำระค่าเบี้ยประกันภัย
1.3 เงื่อนไขข้อกำหนดความคุ้มครอง  (Operative  Clause)  ระบุถึง  ความคุ้มครอง , วัตถุหรือทรัพย์สิน ,  ข้อตกลงเพิ่มภัยที่คุ้มครอง , เงื่อนไขการปฏิบัติ , ระยะเวลาที่คุ้มครอง , วิธีการชดใช้ค่าเสียหาย , ความรับผิดของบริษัทประกันภัย ฯลฯ
1.4  เงื่อนไขข้อยกเว้น  หรือข้อจำกัดความคุ้มครอง  (Exclusions  Clause)  เช่น  ข้อยกเว้นไม่คุ้มครอง  กรณีความเสียหายเกิดจากสงคราม , ภัยก่อการร้าย , ภัยจลาจลนัดหยุดงาน  เป็นต้น  ซึ่งบางภัยอาจสามารถซื้อเป็นภัยเพิ่มได้
1.5  ตารางกรมธรรม์  (Schedule)  กำหนดไว้เป็นตารางช่องว่าง  เพื่อให้บันทึกได้ง่าย และสะดวกต่อการเพิ่มข้อความต่างๆ 
1.6 ช่องการลงนาม  (Signature  Clause)  เป็นการยืนยันข้อตกลง  ด้วยลามือชื่อของผู้มีอำนาจ  ตำแหน่งและวันที่ลงนาม
1.7 เงื่อนไขต่างๆ  (Conditions)  ได้แก่
=     เงื่อนไขที่บังคับให้ปฏิบัติก่อนที่สัญญาประกันภัยจะมีผลตามกฎหมาย  เช่น  การชำระค่าเบี้ยประกันภัย , การแจ้งเหตุ  โดยไม่ชักช้า , การปกป้องดูแลรักษาทรัพย์  เป็นต้น
=     เงื่อนไขบังคับหลังเป็นเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติ  หากมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย  เช่น  การโอนทรัพย์สินให้ผู้อื่น
=     เงื่อนไขแห่งความรับผิด  เพื่อให้คู่สัญญาปฏิบัติต่อกัน  เช่น  การแจ้งเหตุ , การจัดส่งรายการทรัพย์สิน  เป็นต้น

นอกจากนี้  อาจมีเอกสารแนบท้าย (Endorsement)  ติดไปกับกรมธรรม์ประกันภัย  อาทิ  ข้อตกลงในการคุ้มครองเพิ่มภัยพิเศษ หรือ มีการเพิ่มเงื่อนไข  ข้อกำหนดพิเศษ   เป็นต้น

ยังมีกรมธรรม์อีกประเภทหนึ่ง  เรียกว่า  กรมธรรม์เปิด (Open  Policy)    เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ  อีกทั้งเกิดการประหยัดสำหรับผู้เอาประกันภัย  ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ผูกพันบริษัทประกันภัย  และผู้เอาประกันภัยไว้ล่วงหน้า  โดยกรมธรรม์จะระบุเฉพาะสาระสำคัญ  เงื่อนไขการคุ้มครอง , วัตถุที่เอาประกันภัย , ความรับผิดจำนวนสูงสุดแต่ละครั้งไว้    โดยผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะแจ้งรายละเอียดของวัตถุประกัน , จำนวนเงินที่เอาประกันภัย  ได้แต่ละครั้ง  ในระหว่างเวลาที่มีการคุ้มครองเพื่อให้บริษัทรับประกันภัยคิดค่าเบี้ยประกันภัย ได้  ทั้งนี้  กรมธรรม์เปิดนี้เหมาะกับ  การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง , การประกันภัยอุบัติเหตุเดินทาง  ,  การประกันภัยเครื่องจักร   เป็นต้น

ข้อกำหนดให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการ


               การระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนโดยอนุญาโตตุลาการมีมานานแล้ว  และมีการพัฒนามาจนกระทั่งถือเป็นกระบวนการยุติธรรมอย่างหนึ่ง  โดยประเทศไทยกฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ  อนุญาโตตุลาการในศาล และ อนุญาโตตุลาการนอกศาล  ซึ่งการระงับข้อพิพาท ประกันภัย  จะใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการนอกศาล  โดยมีกรมการประกันภัยทำหน้าที่คอยช่วยเหลือให้กระบวนการระงับข้อพิพาทเป็นไปด้วยดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ  พ.ศ.  2530  และข้อบังคับของกรมการประกันภัยว่าด้วย  อนุญาโตตุลาการ  ซึ่งเป็นประโยชน์ทำให้ข้อพิพาทยุติลงได้ในเวลาที่รวดเร็ว ,   ประหยัดและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย  อีกทั้งลดปริมาณคดีประกันภัยเข้าสู่ศาลให้น้อยลง

การตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทด้านประกันภัย  มีข้อกำหนดดังนี้


1.  เป็นกรณีพิพาทระหว่างผู้เอาประกันภัย หรือ ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย  หรือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายตามสัญญาประกันภัย  กับ บริษัทประกันภัย

2.  ต้องเป็นความต้องการของผู้เอาประกันภัย  ผู้รับประโยชน์ หรือ ผู้ได้รับความเสียหาย และได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ  โดยยื่นที่ส่วนราชการสังกัดกรมการประกันภัย  พร้อมรายละเอียดประกอบ  อาทิ  คำเสนอขอให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ / ชื่อที่อยู่ของคู่พิพาท / สัญญาหรือข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ / ข้อเท็จจริงรายละเอียดแห่งข้อพิพาท / รวมทั้งจำนวนเงินที่เรียกร้อง /  คำขอให้ชี้ขาด /  จำนวนอนุญาโตตุลาการหนึ่งคน หรือ สามคน 

3.  เมื่อมีการยื่นหนังสือเสนอข้อพิพาทแล้ว  ให้แจ้งข้อพิพาทเป็นหนังสือและส่งให้กับคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง  โดยคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิยื่นคำคัดค้านทำเป็นคำร้องแย้งได้
4.  คู่พิพาทอาจตั้งผู้แทน หรือ บุคคลเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนการการระงับข้อพิพาทได้
5.  บุคคลผู้เป็นอนุญาโตตุลาการจะต้องเป็นบุคคลที่กรมการประกันภัยได้ขึ้นทะเบียนอนุญาโตตุลาการของกรมการประกันภัย  ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ  (ได้แก่  อธิบดี , ผู้แทนคลัง , ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัย , ผู้แทนสมาคมประกันวินาศภัย , ผู้แทนสมาคมนายหน้าประกันภัย)

6. คู่พิพาทได้ตกลงกันตั้งอนุญาโตตุลาการ  เพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาท

7. จำนวนอนุญาโตตุลาการ
l  อนุญาโตตุลาการ  1 คน  ถ้าทุนเรียกร้องไม่เกิน 1  ล้านบาท 
                 =  อนุญาโตตุลาการ 3  คน  กรณีทุนเรียกร้องเกิน 1 ล้านบาท  หรือไม่มี     ทุนทรัพย์

             8.  การสืบพยานต้องกระทำอย่างเปิดเผย  เว้นแต่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ หรืออนุญาโตตุลาการเห็นควรให้ดำเนินการเป็นการลับ

            9.  ถ้าคู่พิพาทฝ่ายเสนอไม่มาตามกำหนดนัดหมายและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง  อนุญาโตตุลาการมีสิทธิสั่งจำหน่ายข้อพิพาทได้  แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิในการฟ้องต่อศาล  และ คู่พิพาทมีสิทธิขอเลื่อนนัดได้ไม่เกิน  2  นัด

            10.  คำชี้ขาดต้องเสร็จภายในเวลา  180  วันนับแต่การตั้งอนุญาโตตุลาการ  แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นสามารถขยายเวลาได้ตามสมควร

            11.  คำชี้ขาดมีผลผูกพันคู่พิพาท  ตั้งแต่สำเนาคำชี้ขาดไปถึงคู่พิพาทฝ่ายนั้น    

โดยในกรมธรรม์ประกันภัยจะมีข้อความระบุถึง  การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ  สรุปความว่า  กรณีเกิดข้อพิพาท  ข้อขัดแย้ง  หรือ ข้อเรียกร้องใดๆ  ตามกรมธรรม์ประกันภัย  หากผู้มีสิทธิ์   เรียกร้องประสงค์ และ เห็นควรยุติข้อพิพาทนั้น  โดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ  บริษัทตกลงและยินยอมให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาด  โดยอนุญาโตตุลาการ  ตามข้อบังคับกรมการประกันภัยว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

ขอบคุณรูปภาพ Photo source : pexels.com

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.