เทคโนโลยีความปลอดภัยในรถยนต์ปัจจุบัน
ระบบความปลอดภัยในรถยนต์ปัจจุบัน
1. ระบบ ABS (Anti-Lock Brake System)
เป็นระบบความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานในรถยนต์ทุกคันไปแล้ว โดยระบบนี้จะเป็นการทำงานเพื่อป้องกันการล็อคของล้อเมื่อมีการกดเบรกแรง ตัวรถจะได้ไม่ไถลออกนอกทางและสามารถควบคุม รถยนต์ได้ง่ายกว่าABS จะทำงานโดยหม้อเบรก ที่ทำงานร่วมกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ จับการหมุนของล้อว่ามีการหยุดแบบฉุกเฉินหรือไม่ ถ้ามี ตัวหม้อลมเบรกจะทำการปล่อย-จับเบรกด้วยความเร็วสูงระดับ 16-50 ครั้งต่อวินาที เพื่อให้ล้อไม่หยุดหมุนในทันที ทำให้เรายังคงควบคุมรถให้อยู่ในเส้นทางได้มากที่สุด
2. ระบบ EBD ( Electronic Brake force Distribution) หรือ ระบบควบคุมการกระจายแรงเบรก เป็นระบบที่ทำงานร่วมกับระบบ ABS เพื่อให้การเบรกแต่ละครั้งปลอดภัยมากขึ้น ระบบนี้จะทำงานโดยการตรวจจับการหมุนของล้อทั้ง 4 ล้อ เมื่อมีการแตะเบรก ระบบจะทำการคำนวณว่า แต่ละล้อมีการเบรกทำให้ล้อหมุนสมดุลเหมาะสมกับการขับขี่ตอนนั้นอยู่หรือไม่ ถ้าผิดปกติ ระบบจะทำการปรับแรงดันเบรกให้กลับมาสมดุลกันในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาที เพื่อให้สามารถหยุดได้ตรง ไม่เกิดอาการส่ายหรือท้ายปัด รวมทั้งการเบรกในโค้งก็จะปลอดภัยมากกว่าเดิม
3. ระบบ BA (Brake Assist) ระบบเสริมแรงเบรกที่ทำงานร่วมกับ ABS เช่นกัน เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มแรงเบรกในกรณีที่มีการเบรกฉุกเฉิน แต่แรงกดที่แป้นเบรกอาจจะไม่พอ ระบบสมองกลจะสั่งการให้เบรกทำงานส่งแรงไปห้ามล้อให้มากกว่าเดิม ทำให้รถยนต์ที่มีระบบนี้ จะช่วยให้ระยะเบรกนั้นสั้นกว่าเดิม
4. ระบบ TRC (Traction Control System)
ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี เป็นระบบที่จะคอยตรวจจับให้ล้อทั้ง 4 ล้อหมุนได้เท่ากันตลอดทาง เพราะบางกรณีเช่น บางล้อไปตกน้ำทำให้เกิดการไถลหรือหมุนฟรี จะทำให้มีโอกาสที่ฝั่งของล้อที่ลุยน้ำวิ่งช้าหรือเร็วกว่าตัวรถได้ เกิดอาการไถลออกนอกเส้นทางจนเกิดอันตราย เมื่อระบบ TRC พบการหมุนฟรี ก็จะทำงานด้วยการส่งแรงดันเบรกไปที่ล้อนั้นล้อเดียว (หรือหลายล้อในกรณีที่หมุนไม่เท่ากัน) เพื่อให้ทุกล้อกลับมาหมุนได้เท่ากันเหมือนเดิม ทำให้เรายังคงควบคุมรถได้ตามปกติ
5. ระบบ VSC, ESP, ESC
VSC (Vehicle Stability Control) หรือ ESP (Electronic Stability Control) หรือ ESC (Electronic Stability Program) หรือระบบควบคุมการทรงตัว เป็นระบบที่พัฒนาต่อยอดมาจากระบบ TRC ที่จะคอยตรวจจับการหมุนของล้อให้เท่ากัน รวมทั้งเพิ่มการตรวจสอบการทรงตัวของรถยนต์ให้มีความสมดุลตลอดทางอีกด้วย เมื่อระบบพบความผิดปกติ นอกจากจะสั่งให้ระบบ TRC ทำงานเพื่อส่งแรงเบรกไปที่ล้อที่หมุนผิดปกติแล้ว ยังทำการลดหรือตัดการทำงานของเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้ส่งกำลังเพิ่มเติมไปที่ล้อได้อีก ทำให้รถจะยังคงทรงตัวได้ตามปกติ และปลอดภัยในการขับขี่เช่นเดิม
6. ระบบ HDC (Hill Descent Control)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ขณะรถลงทางลาดชัน บางค่ายเรียกว่า DAC (Downhill Assist Control ) เป็นระบบที่ ช่วยให้เราสามารถลงทางลาดชันด้วยความเร็วที่เหมาะสม โดยที่ไม่ต้องแตะเบรกเอง ระบบนี้เมื่อเรากดปุ่มเพื่อเปิดการทำงานตอนที่เราขับรถลงทางลาดชัน ระบบจะไปสั่งการหม้อเบรก ABS ให้ทำการจับล้อให้หมุนด้วยความเร็วไม่เกินที่กำหนดไว้ โดยจับเป็นระยะแบบรวดเร็วเหมือนตอนเรากดเบรกแรงๆแล้ว ABS ทำงาน นอกจากจะช่วยให้รถไม่ไหลลงเร็วเกินไปแล้ว ยังช่วยลดอาการเบรกไหม้จากการกดเบรกยาวเป็นเวลานานจากเท้าเราได้อีกด้วย
7. ระบบ HSA หรือ HAC(Hill Start Assist)
คือระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน เป็นระบบที่ทำงานอัตโนมัติ สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อมีการจอดสนิทบนทางลาดเอียง การใช้งานคือ เมื่อรถมีอาการด้านหน้าสูงกว่าด้านหลังเกินกว่าที่ระบบตั้งไว้ เมื่อมีการเหยียบเบรกไว้จนรถหยุดสนิท แล้วเราต้องการขับรถเพื่อขึ้นเนินต่อ หลังจากปล่อยเบรกแล้ว เบรกจะยังทำงานอยู่ต่อประมาณ 2-3 วินาที เพื่อให้เรามีเวลาย้ายเท้าจากแป้นเบรกไปยังคันเร่งได้ทันเวลา ก่อนที่รถจะทำการถอยหลังลง ป้องกันการถอย
หลังไปชนกันรถด้านหลังได้
8. ระบบ Collision warning system, Forward Collision Warning
ระบบเตือนการชนด้านหน้า ระบบนี้จะใช้เรดาร์หรือเซ็นเซอร์หรือ LIDAR หรือกล้องในการตรวจจับวัตถุด้านหน้า ว่าอยู่ใกล้และมีโอกาสในการที่รถเราจะไปชนมากขนาดไหน คำนวณจากความเร็วและระยะแล้วมีโอกาสชน ระบบจะทำการเตือนบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเตือนด้วยสัญญาณไฟ, เสียง หรือการสั่นที่พวงมาลัย เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่เหยียบเบรกก่อนที่จะชนวัตถุด้านหน้า ส่วนใหญ่ระบบนี้จะทำงานเมื่อรถมีการวิ่งในความเร็วระดับหนึ่งตามที่ผู้ผลิตรถยนต์ตั้งไว้
9. ระบบ Autonomous emergency braking (AEB)
ระบบเบรกอัตโนมัติฉุกเฉิน เป็นระบบที่ทำงานต่อเนื่องกับระบบเตือนการชนด้านหน้า เมื่อระบบพบวัตถุด้านหน้าและคำนวณแล้วว่ามีโอกาสที่จะชน ระบบจะเตือนผู้ขับขี่ก่อน แต่ถ้าไม่มีการตอบสนองหรือตอบสนองช้า ระบบจะทำการเบรกเพื่อชะลอไว้ให้ก่อน หรือหยุดให้เลยในกรณีที่ความเร็วไม่เกินที่กำหนดไว้ หรือถ้าความเร็วเกิน ระบบจะทำการชะลอความเร็วไว้ให้ก่อน แล้วจะทำการอัดแรงไปที่ปั๊มน้ำมันเบรกให้มากกว่าปกติ เพื่อรอให้มีการกดที่
แป้นเบรก จะทำให้รถสามารถหยุดหรือลดความเร็วได้เร็วกว่าปกติ เพื่อป้องกันการชนหรือทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดเมื่อเกิดการชน
10. ระบบ Blind spot monitoring
เมื่อเรามองกระจกมองข้าง จะมีจุดหนึ่งที่เราจะมองไม่เห็นที่เราเรียกว่ามุมบอด ซึ่งระบบเตือนมุมบอด Blind spot monitoring (BSM) จะมีเข้ามาเพื่ออุดช่องโหว่ของตัวนี้ ระบบการทำงานก็ไม่ซับซ้อนอะไร เพียงใช้การตรวจจับวัตถุผ่านเซ็นเซอร์หรือเรดาร์ ว่ามีวัตถุใดๆอยู่ที่ข้างรถเราหรือไม่ ถ้ามีก็จะมีการเตือนขึ้นที่หน้าจอหรือบนกระจกมองข้าง ในบางรุ่นอาจจะมีเสียงเตือนด้วย เพื่อบอกว่าให้ระวังด้วยเวลาเปลี่ยนเลน เพราะมีวัตถุอยู่ตรงนั้น
11. ระบบ Lane Departure Warning
อุบัติเหตุในหลายๆครั้งนั้น มาจากการที่ผู้ขับขี่เผลอปล่อยรถออกนอกเลนโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นระบบการเตือนออกนอกเลน Lane Departure Warning จะเข้ามาช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้ระบบกล้องในการตรวจจับเลน แต่ก็มีบ้างที่ใช้เลเซอร์หรืออินฟาเรดในการตรวจจับ ซึ่งระบบจะทำงานเมื่อมีความเร็วในระดับที่กำหนดไว้โดยผู้ผลิต และเส้นจราจรค่อนข้างชัดเจน เมื่อระบบตรวจจับได้ว่ารถเริ่มออกนอกเส้นทางแล้วไม่มีการเปิดไฟเลี้ยว จะมีเสียงเตือน, ไฟเตือนที่หน้าจอ, สั่นที่พวงมาลัยหรือที่เบาะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ขับขี่ทราบว่ากำลังออกนอกเลน แล้วดึงพวงมาลัยให้กลับมาอยู่ในเลน
12. ระบบ Lane-Keeping Assist, Steering assist( LKAS)
ระบบดึงกลับเข้าเลนอัตโนมัติ Lane-Keeping Assist หรือ Steering assist เป็นระบบที่ทำงานต่อเนื่องกันกับระบบการเตือนออกนอกเลน เมื่อมีการตรวจจับว่ารถกำลังเอียงออกนอกเลนโดยไม่ได้เปิดไฟเลี้ยว ระบบจะทำการเตือนก่อน แล้วต่อเนื่องด้วยการหันพวงมาลัยกลับแบบช้าๆทันที เพื่อให้รถกลับเข้ามาอยู่ในเลนตามปกติ
13. ระบบ Autonomous cruise control system
ระบบ Autonomous cruise control system นั้น แต่ละค่ายอาจจะเรียกแตกต่างกัน ทั้ง Adaptive cruise control, Dynamic Radar Cruise Control, Traffic-aware cruise control เป็นต้น ระบบก็เหมือนกับการควบคุมความเร็วแบบทั่วไป เพียงแต่เมื่อระบบตรวจจับพบรถที่อยู่ด้านหน้ามีการใช้ความเร็วช้ากว่าที่รถเราตั้งไว้ ระบบจะทำการลดความเร็วให้เท่ากับรถคันหน้าทันที และรักษาระยะห่างให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจนกว่ารถข้างหน้าจะหลบไปหรือขับไปเร็วกว่าที่เราตั้งไว้ รถก็จะทำการเร่งความเร็วกลับไปอยู่ในระดับที่เราตั้งไว้อัตโนมัติทันที
14. ม่านถุงลมนิรภัย (Curtain Airbag)
ช่วยป้องกันไม่ให้หน้าและศีรษะไปกระแทกกับแรงปะทะ หากเกิดการชนจากด้านข้างในระดับปานกลางถึงรุนแรง ถุงลม แบบม่านจะพองตัวออกมา พร้อมการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย
อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพิ่มความคุ้มครองให้กับรถยนต์ของท่าน เลือกสินมั่นคงประกันภัย..ประกันรถ ประกันเวลา..วางใจทำประกันรถยนต์กับเรา ด้วยเบี้ยที่ไม่แพง พร้อมบริการที่สะดวก รวดเร็ว โทร 1596 หรือ www.smk.co.th
ที่มา: autodeft.com
Photo source: pexels.com
mercedes-benz.com
ไม่มีความคิดเห็น: