รับมืออาการโอเวอร์ฮีทรถยนต์
ระบบระบายความร้อนในเครื่องยนต์ มีหน้าที่ควบคุมและรักษาอุณหภูมิของเครื่องยนต์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์สำคัญดังนี้
- หม้อน้ำ มีหน้าที่ถ่ายเทความร้อน
- ปั๊มน้ำ มีหน้าที่ในการหมุนเวียนน้ำในระบบหล่อเย็น น้ำร้อนเมื่อผ่านการลดอุณหภูมิที่หม้อน้ำก็จะถูกปั๊มน้ำหมุนเวียนกลับเข้าไปในเครื่องยนต์ เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน
- วาล์วน้ำ หรือเธอร์โมสตัท หน้าที่ของมันก็คือ คอยปิด/เปิดการไหลเวียนของน้ำในระบบระบายความร้อน ในอุณหภูมิต่ำมันจะปิดไม่ให้มีการไหลเวียนของน้ำ เพื่อช่วยในการวอร์มเครื่องยนต์ให้ถึงอุณหภูมิ เมื่อถึงอุณหภูมิการทำงานของเครื่องยนต์ วาล์วน้ำก็จะเปิดเพื่อให้น้ำหล่อเย็นเกิดการหมุนเวียน
โดยปกติความร้อนของเครื่องจะอยู่ที่ 85 – 100 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวเข็มวัดอุณหภูมิความร้อนจะอยู่ที่กึ่งกลางพอดี อาจจะมีขึ้นลงเล็กน้อย แต่ถ้าเข็มวัดอุณหภูมิใกล้แตะสีแดง แสดงว่ารถยนต์มีอาการโอเวอร์ฮีทเเล้ว
รถยนต์ความร้อนขึ้นสูงมาจากสาเหตุอะไร ?
1. การไม่เช็คระดับน้ำ
การไม่ได้เช็คระดับน้ำในหม้อน้ำทำให้น้ำที่เข้าไปหล่อเย็นในระบบการทำงานเครื่องยนต์ไม่เพียงพอ แม้จะเป็นรถใหม่ระดับน้ำก็สามารถลดลงได้ เนื่องจากไม่ได้เติมน้ำเป็นเวลานาน ควรหมั่นตรวจสอบระดับในในหม้อน้ำและหม้อพักเป็นสิ่งจำเป็นที่รถใหม่รถเก่าควรทำอย่างสม่ำเสมอ
2. ปั๊มน้ำรั่ว
เกิดจากความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยรักษาอุณหภูมิภายในเครื่องยนต์ด้วย เช่นปั๊มน้ำเครื่องยนต์ เมื่อใช้งานจนใกล้ครบอายุ เกิดอาการรั่วเล็กๆ หรือการซึมของน้ำโดยรอบของตัวอุปกรณ์ จนระดับน้ำที่เครื่องยนต์ต้องการไม่เพียงพอ แล้วความร้อนเครื่องยนต์ก็สูงขึ้น
3. หม้อน้ำเสื่อมสภาพ
หม้อน้ำรั่วซึมหรือแตก ส่วนใหญ่กับรถที่อายุมากกว่า10 ปีมักจะเจอกับปัญหานี้ เนื่องมีคราบสนิมที่เกาะอยู่ ตามขอบหม้อน้ำ ต้องเติมน้ำเข้ากับหม้อน้ำบ่อยๆ นั่นเป็นเพราะน้ำสามารถระเหยออกไปได้จากการรั่วซึม จนสุดท้าย หม้อน้ำแตก หรือเกิดอาการหม้อน้ำตัน มาจากสิ่งสกปรกอุดตันในแผงระบายความร้อนส่งผลให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนลดลงมีผลทำให้เครื่องยนต์ความร้อนขึ้นสูง
4. ท่อยางหม้อน้ำฉีกขาด
รถที่มีอายุการใช้งานนาน ตัวท่อยางต่างๆ สำหรับการเดินน้ำหล่อเย็นของเครื่องยนต์ เริ่มเสื่อมสภาพหรือฉีกขาดได้ง่ายจนไม่สามารถรับแรงดันของน้ำหรือรั่วขณะที่ขับรถจนน้ำหล่อเย็นหายหมดก็ส่งผลทำให้ความร้อนขึ้นสูงได้ในขณะใช้งาน
5. พัดลมหม้อน้ำเสีย
พัดลมสำหรับเป่าหรือดูดไอร้อนออกไปจากหม้อน้ำทำให้น้ำในหม้อน้ำเย็นลง แต่กลับทำงานไม่ปกติหรือไม่ทำงาน แทนที่น้ำหล่อเย็นจะไหลเข้าสู่เครื่องช่วยระบายความร้อน กลับเป็นน้ำที่ระดับอุณหภูมิสูงเข้าไปในเครื่องแทนก็ทำให้เครื่องเกิดอาการความร้อนขึ้นสูงได้
6. เข็มความร้อนเสียหรือแสดงผลผิดพลาด หากตรวจสอบทุกอย่างจนแน่ใจแล้วว่าไม่พัง หรือหาสาเหตุไม่เจอ อาจเป็นไปได้ว่า ตัวเข็มอาจมีปัญหาเองก็ได้
เมื่อสัญญาณไฟสีแดงเตือน! ความร้อนเครื่องยนต์ขึ้นสูงต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ความเเสียหายเกิดกับเครื่องยนต์
1. รีบจอดรถเข้าข้างทาง
เมื่อเข็มพุ่งระดับสูงขึ้นจนอยู่ในเขตสีแดงหรือสัญญาณไฟเตือน ให้รีบจอดข้างทางในทันที ไม่ควรฝืนขับรถไป ต่อเพราะยิ่งจะทำให้ความเสี่ยงที่เครื่องจะมีความร้อนสูง
2. เปิดฝากระโปรงระบายความร้อน
อย่าเพิ่งรีบดับเครื่อง เพราะบางครั้งที่ความร้อนขึ้นสูงอาจมาจากการทำงานผิดปกติของชิ้นส่วนภายนอกที่มองเห็นได้จะได้ทราบสาเหตุความร้อนสูง ปล่อยเครื่องเดินเบาสักพักและสังเกตเข็มระดับความร้อนลดลงหรือไฟสัญญาณเตือนความร้อนดับหรือไม่ สังเกตความผิดปกติของการทำงานของเครื่องยนต์ แต่ถ้าไฟสัญญาณเตือนไม่ดับหรือเข็มความร้อนไม่ลดระดับลงเลยก็ให้ดับเครื่อง เปิดฝากระโปรงเพื่อระบายความร้อนของเครื่องยนต์ออก
3. รอให้เครื่องเย็นเปิดฝาหม้อน้ำ
ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำเด็ดขาดทันทีที่ดับเครื่องเพราะแรงดันน้ำของเครื่องยนต์ยังสูงอยู่อาจเป็นอันตรายได้ ทิ้งให้รถระบายความร้อนสักครึ่งชั่วโมงหรือจนกว่าจะแน่ใจว่าเครื่องเย็นลงแล้วค่อยเปิดฝาหม้อน้ำได้
4. เติมน้ำไปจนให้เต็มหม้อน้ำแล้วสตาร์ทรถ
เปิดฝาหม้อน้ำแล้วเติมน้ำกลับไปในหม้อน้ำให้เต็มรวมไปถึงหม้อพักน้ำด้วย แต่การเติมน้ำไปทันที อาจทำให้โลหะเกิดการหดตัว การเติมน้ำในหม้อน้ำรถยนต์แต่ละครั้ง ควรเติมทีละครึ่งลิตรเท่านั้นและเว้นระยะเวลาห่างสัก 3 นาทีในแต่ละครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ฝาสูบเกิดการหดตัว จากนั้นลองสตาร์ทเครื่องยนต์ ค่อยๆ ขับรถไปให้ถึงจุดหมาย ระหว่างที่ขับก็อย่าลืมหมั่นสังเกตระดับเข็มความร้อนหรือไฟสัญญาณเตือนอยู่ตลอด เมื่อถึงจุดหมายปลายทางก็รีบนำรถเข้าอู่ตรวจสอบหาสาเหตุของอาการความร้อนขึ้นโดยด่วน ไม่ควรฝืนใช้รถต่อไป เพราะอาการอาจจะหนักกว่าเดิมจนไม่สามารถขับต่อได้
เพิ่มความคุ้มครองให้กับรถยนต์ของท่าน จากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เลือกสินมั่นคงประกันภัย..ประกันรถ ประกันเวลา..วางใจทำประกันรถยนต์กับเรา ด้วยเบี้ยที่ไม่แพง พร้อมบริการที่สะดวก รวดเร็ว
โทร 1596 หรือ www.smk.co.th
ไม่มีความคิดเห็น: