ปลาหมึกคอเลสเตอรอลสูงกินแล้วเสี่ยงโรคจริงหรือ??
ปลาหมึก
ปลาหมึกมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมนำมาบริโภค ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกกระดอง และปลาหมึกสาย
สารอาหารที่ได้จากปลาหมึก
ในปลาหมึกกล้วยสดที่หนัก 85 กรัม ประกอบด้วยสารอาหาร
- โปรตีน 13.2 กรัม
- ไขมันคอเลสเตอรอล 198 มิลลิกรัม
- ไขมันอิ่มตัว 0.3 กรัม
- ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 0.09 กรัม
- และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.4 กรัม
- โอเมก้า 3 วิตามินอี โปรตีน และแร่ธาตุต่างๆ
แม้จะอุดมไปด้วยไขมัน แต่ปลาหมึกก็มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย ช่วยในการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ และผิวหนัง และไขมันบางชนิดที่พบในปลาหมึกก็เป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยเช่นกัน
มีการค้นคว้าเกี่ยวประโยชน์และผลกระทบต่อสุขภาพของปลาหมึก ไว้ดังนี้
- ปลาหมึก เพิ่มไขมันดี ลดไขมันเลว
จากการวิจัยให้ผู้ชายซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ 18 คน บริโภคอาหารทะเลที่แตกต่างกัน 6 ชนิด คือ ปลาหมึกกล้วย ปู กุ้ง หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอยกาบ พบว่าปลาหมึกกล้วยและกุ้งมีไขมันคอเลสเตอรอลสูงกว่าอาหารชนิดอื่น ในขณะที่มีไขมันโอเมก้า 3 ต่ำกว่า แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดของผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่ และหอยนางรมช่วยเพิ่มไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี
(HDL) ให้แก่ร่างกาย ซึ่งไขมันชนิดนี้จะช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลส่วนเกินออกไปด้วย
ส่วนอีกงานวิจัยที่ศึกษาโดยให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดจากปลาหมึกกล้วยเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า สารจากปลาหมึกกล้วยมีประสิทธิภาพในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และลดไขมันคอเลสเตอรอลลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มหนูทดลองที่บริโภคสารดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคสารนี้ โดยสารสกัดจากปลาหมึกช่วยลดการดูดซึมกรดน้ำดีในลำไส้เล็กและยับยั้งการสร้างไขมันในตับด้วย
แม้ปลาหมึกอาจมีไขมันชนิดที่ดีที่ช่วยลดระดับไขมันไม่ดีในร่างกายได้ แต่ยังคงต้องศึกษาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำผลลัพธ์ไปประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริงในอนาคต ดังนั้นขณะนี้เราควรรับประทานปลาหมึกในปริมาณพอเหมาะ เพราะหากบริโภคปริมาณมากอาจเสี่ยงมีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป เพราะในปลาหมึกมีไขมันอิ่มตัวและไขมันชนิดอื่นๆ อยู่ด้วย
- ปลาหมึกลดความดันโลหิต
มีงานวิจัยหนึ่งที่ให้หนูทดลองรับประทานโปรตีนที่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ ACE ซึ่งสกัดได้จากส่วนกล้ามเนื้อของปลาหมึกกระดอง พบว่าสารดังกล่าวช่วยลดระดับความดันซิสโตลิกหรือความดันขณะหัวใจบีบตัวลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยผลลัพธ์นี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง และป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต
แม้จะปรากฏประสิทธิผลของการบริโภคปลาหมึกต่อการลดระดับความดันโลหิต แต่มีเพียงระดับความดันซิสโตลิกที่ลดลง อีกทั้งยังเป็นงานวิจัยขนาดเล็กที่ทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงควรค้นคว้าทดลองในมนุษย์และขยายกลุ่มทดลองให้มีขนาดใหญ่ เพื่อยืนยันประสิทธิผลจากการบริโภคปลาหมึกให้ชัดเจนต่อไป
- ปลาหมึกช่วยสมานแผล
มีงานวิจัยที่ค้นคว้าคุณสมบัติของเจลคอลลาเจนที่ได้จากผิวหนังชั้นนอกของปลาหมึกกระดองในห้องปฏิบัติการ พบว่าหลังจากทาสารชนิดนี้ แผลติดกันเร็วขึ้น ซึ่งอาจพัฒนาสารดังกล่าวไปเป็นยาสมานแผลได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าข้างต้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์หรือศึกษาผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น จึงไม่อาจสรุปประสิทธิผลของสารสกัดจากปลาหมึกต่อการสมานแผลได้อย่างแน่ชัดในขณะนี้ และควรศึกษาทดลองให้ชัดเจนในมนุษย์ต่อไป ทั้งในด้านประสิทธิผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยจากการใช้หรือการบริโภคปลาหมึกและผลิตภัณฑ์จากปลาหมึก
ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่แนะนำในการรับประทานปลาหมึกที่ชัดเจน เราจึงควรรับประทานปลาหมึกที่สด สะอาด และปรุงสุก ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะในปลาหมึกมีทั้งไขมันอิ่มตัวและไขมันชนิดอื่นๆอยู่ด้วย
สินมั่นคงประกันภัย มีประกันสุขภาพหลายรูปแบบให้เลือก พร้อมเบี้ยประกันที่ไม่แพง
คลิก www.smk.co.th หรือ โทร 1596
สินมั่นคงประกันสุขภาพ..เราประกัน คุณมั่นใจ..
ที่มา : pobpad.com
ไม่มีความคิดเห็น: