Ads Top

SMK Insurance

น้ำกลั่นรถยนต์คืออะไร ? ใช้น้ำเปล่าเติมแทนได้ไหม ?

 



“น้ำกลั่นรถยนต์” ทำหน้าที่เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าภายในแบตเตอรี่ ช่วยให้สตาร์ตเครื่องติดได้ง่ายในทุกการขับขี่ แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องตรวจเช็กปริมาณน้ำกลั่นจะต้องทำอย่างไร?  จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องเติม? หรือจะใช้น้ำเปล่าเติมแทนน้ำกลั่นได้หรือไม่?  รวบรวมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับน้ำกลั่นรถยนต์มาเล่าให้ฟัง

 

สารบัญบทความ

1. น้ำกลั่นรถยนต์คืออะไร?

2. น้ำกลั่นรถยนต์มี่กี่แบบ?

3. วิธีการเติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่ทำอย่างไร?

4. ผลเสียของการเติมน้ำเปล่าแทนน้ำกลั่นคืออะไร?





 1. น้ำกลั่นรถยนต์คืออะไร?

“น้ำกลั่น” (Distilled Water) คือ น้ำที่ผ่านกระบวนการทำความร้อนโดยเครื่องกลั่นน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำและสิ่งเจือปนต่างๆ ระเหยกลายเป็นไอน้ำ และเมื่อไอน้ำกระทบกับความเย็นก็จะเกิดการควบแน่นเกิดเป็นหยดน้ำบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปนใดๆ ทำให้น้ำกลั่นเป็นน้ำเพียงชนิดเดียวที่ใช้เติมแบตเตอรี่ได้ เนื่องจากน้ำที่จะใช้เติมแบตเตอรี่ได้นั้น ต้องไม่มีส่วนผสมที่เป็นแร่ธาตุ โลหะหนัก หรือสิ่งเจือปนใดใดปะปนอยู่ หรือหากมีแร่ธาตุผสมอยู่ จำเป็นต้องมีสัดส่วนไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดโดยผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งแตกต่างจากน้ำทั่วไปที่มีแร่ธาตุต่างๆ เจือปนอยู่อย่างอิสระ 


คุณสมบัติสำคัญของน้ำกลั่น คือ น้ำกลั่นแบตเตอรี่มีความสามารถในการเหนี่ยวนำไฟฟ้าได้จึงทำให้รถสตาร์ตติด รวมถึงน้ำกลั่นแบตเตอรี่ยังมีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานของน้ำกรดที่อยู่ในแบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี


 



2. น้ำกลั่นรถยนต์มี่กี่แบบ?

ในปัจจุบันมีน้ำกลั่นรถยนต์ให้เลือกซื้อมากมายหลากหลายยี่ห้อ โดยจะความแตกต่างกันออกไปตามค่าความเป็นกรด ค่าของการนำไฟฟ้า หรือค่าความเป็นด่าง มักพบเห็นน้ำกลั่นรถยนต์จำหน่ายโดยทั่วไปใน 2 สี ได้แก่ 

1) น้ำกลั่นรถยนต์สีชมพู หรือน้ำกลั่นที่มีคุณสมบัติในการลดความร้อนให้กับแบตเตอรี่ ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพในการเก็บกำลังไฟไว้ได้นานมากขึ้น เหมาะสำหรับรถยนต์ที่มักจอดทิ้งไว้เป็นเวลานาน และ 

2) น้ำกลั่นรถยนต์แบบไม่มีสี คือ น้ำกลั่นธรรมดา เน้นใช้งานในภาคอุตสาหกรรม สามารถใช้งานในรถยนต์ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ควรเลือกซื้อน้ำกลั่นรถยนต์จากแหล่งจัดจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ เพื่อลดโอกาสในการซื้อน้ำกลั่นรถยนต์ปลอมที่มีส่วนผสมของน้ำเปล่าเป็นหลัก





3. วิธีการเติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่ทำอย่างไร?

ขั้นตอนสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาแบตเตอรี่ คือ การตรวจดูระดับของน้ำกลั่นในแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากน้ำกลั่นลดระดับผิดปกติ หรือระเหยแห้งไปทั้งหมด อาจเป็นสัญญาณสำคัญของปัญหาการรั่วซึมภายในเครื่องยนต์ก็เป็นได้


เมื่อพบว่าน้ำกลั่นลดระดับลงเล็กน้อย อาจพิจารณาเลือกเติมน้ำกลั่นรถยนต์เข้าสู่ตัวแบตเตอรี่โดยต้องไม่เติมน้ำกลั่นจนล้นออกมากจากหม้อแบตเตอรี่ และต้องเป็นน้ำกลั่นบริสุทธิ์สำหรับใช้เติมแบตเตอรี่รถยนต์เท่านั้นโดยในระหว่างที่เติมน้ำกลั่น ควรใส่ถุงมือและเตรียมผ้าสำหรับทำความสะอาดเพื่อป้องกันของเหลว (น้ำกรด) ที่อยู่ในแบตเตอรี่กระเด็นโดนผิวหนัง หรือหากพบว่าน้ำกลั่นระเหยแห้งออกไปจากแบตเตอรี่ อาจต้องนำรถยนต์เข้าตรวจสอบกับช่างผู้ชำนาญการเพื่อตรวจเช็กสภาพของแบตเตอรี่ 






โดยมีขั้นตอนในการตรวจเช็กและเติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่รถยนต์ดังต่อไปนี้


1. ทำความสะอาดบริเวณภายนอกของตัวแบตเตอรี่และบริเวณโดยรอบของรูเติมน้ำกลั่น

เลือกใช้น้ำยาทำความสะอาดเอนกประสงค์ หรือน้ำยาเช็ดกระจกฉีดพ่นลงบนกระดาษทิชชู่ หรือผ้าเช็ดทำความสะอาดทั้งบริเวณภายนอกของตัวแบตเตอรี่และบริเวณโดยรอบของรูเติมน้ำกลั่น ทั้งนี้ ต้องระวังไม่ให้น้ำยาทำความสะอาดหรือเศษกระดาษทิชชู่ตกหล่นลงไปในรูน้ำกลั่น


2. ตรวจสอบระดับน้ำกลั่น

วิธีการตรวจสอบระดับน้ำกลั่นสามารถทำได้ในหลายวิธี โดยหากเป็นแบตเตอรี่รุ่นเก่าอาจต้องใช้วิธีการสังเกตปริมาณน้ำกลั่นที่กระทบเดือยหรือปลายพลาสติกในรูเติมน้ำกลั่น หรือการสังเกตปริมาณน้ำกลั่นที่ท่วมอยู่เหนือตัวแผ่นทองแดงในตัวแบตเตอรี่ แต่หากเป็นแบตเตอรี่รุ่นใหม่จะสามารถเช็กดูสถานะของน้ำกลั่นด้วยสัญลักษณ์ตาแมว (Indicator Sign) ที่มีติดอยู่ในตัวแบตเตอรี่ได้โดยตรง


วิธีการสังเกตุปริมาณน้ำกลั่นที่กระทบเดือยหรือปลายพลาสติกในรูเติมน้ำกลั่น จะใช้การเขย่าเพื่อสังเกตปริมาณน้ำกลั่นที่เหลืออยู่ โดยเมื่อเขย่าเเล้ว หากน้ำกลั่นยังมีปริมาณอยู่ในระดับเดียวกับตัวเดือยจะถือว่าน้ำกลั่นอยู่ในระดับพอดีต่อการใช้งาน ยังไม่ต้องเติมเพิ่มเเต่อย่างใด แต่หากเขย่าเเล้วไม่พบน้ำกลั่น แสดงว่าน้ำกลั่นเริ่มแห้งแล้ว


วิธีการสังเกตปริมาณน้ำกลั่นที่ท่วมอยู่เหนือตัวแผ่นทองแดงในตัวแบตเตอรี่ ให้สังเกตแผ่นทองแดงที่อยู่ภายในแบตเตอรี่ หากน้ำกลั่นมีปริมาณลดลงจากแผ่นทองแดง ให้เติมน้ำกลั่นเพิ่มลงไปจนท่วมแผ่นทองแดงพอประมาณ


3. เติมน้ำกลั่นรถยนต์ลงในแบตเตอรี่

เมื่อเปิดฝาแบตเตอรี่ออกครบทั้ง 6 ฝา เพื่อตรวจเช็กปริมาณน้ำกลั่น และพบว่ามีปริมาณน้ำกลั่นอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน ให้ค่อยๆ รินน้ำกลั่นใส่ลงไปในรูเติมน้ำกลั่นทีละน้อย โดยต้องไม่เติมน้ำกลั่นจนล้นออกมาภายนอกเพื่อป้องกันการเจือปนระหว่างน้ำกลั่นและของเหลวอื่นๆ ภายในเครื่องยนต์ จากนั้นตรวจสอบระดับน้ำกลั่นอีกครั้งเพื่อให้ได้ปริมาณในระดับมาตรฐาน และทำการปิดฝาแบตเตอรี่ทั้งหมด พร้อมกับทำความสะอาดหม้อแบตเตอรี่อีกครั้งด้วยผ้าแห้ง


4. ผลเสียของการเติมน้ำเปล่าแทนน้ำกลั่นคืออะไร?

การเติมน้ำเปล่าแทนน้ำกลั่นรถยนต์ให้กับแบตเตอรี่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของแบตเตอรีโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นอายุการใช้งานแบตเตอรีที่สั้นลง หรือแรงดันแบตเตอรี่ที่ลดลง เนื่องจากน้ำดื่มทั่วไปมีแร่ธาตุเจือปนอยู่อย่างมาก และมีความเป็นด่าง ในขณะที่ของเหลวที่อยู่ในแบตเตอรี่ คือ น้ำกรด ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด จึงอาจส่งผลต่อปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในแบตเตอรี่ได้


การเติมน้ำกลั่นรถยนต์อย่างถูกต้องจะช่วยรักษาอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่การเติมน้ำเปล่าเเทนน้ำกลั่นสำหรับใช้เติมในแบตเตอรี่รถยนต์โดยเฉพาะ จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแบตเตอรี่ลดลง และอายุการใช้งานสั้นลงไปด้วย หากไม่สะดวกตรวจเช็กหรือเติมน้ำกลั่นรถยนต์ด้วยตัวเอง การนำรถเข้าตรวจเช็กกับศูนย์หรืออู่ที่เชี่ยวชาญ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ


อย่าลืม!!! เลือกความคุ้มครองให้รถคุณด้วยประกันรถยนต์ตามเวลา ให้ความคุ้มครอง 6 และ 12 เดือน ด้วยเบี้ยเบาๆ จ่ายสบาย ช่วยแบ่งเบาภาระในยามวิกฤต เพื่อความอุ่นใจเมื่อออกเดินทาง เบี้ยเริ่มต้นที่ 969 บาท คลิก www.smk.co.th/premotor



ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.