สวนสุขภาพคืออะไร? แตกต่างจากสวนสวนสาธารณะอย่างไร? มีอะไร
“สวนสุขภาพ” หรือ “สวนสาธารณะเพื่อสุขภาพ” เป็นเหมือนอวัยวะที่สำคัญของคนกรุงเทพฯ แม้ในยุคโควิด 19 ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่กับบ้านและรักษามาตรการ Social Distancing ทำให้อาจต้องว่างเว้นการออกกำลังกายในที่สาธารณะไปนานถึง 2 ปี (ระบาดโควิด-19 จะออกกำลังกายที่ไหน? แบบไหนดี? https://www.smk.co.th/newsdetail/1598) แล้วสวนสุขภาพคืออะไร? มีแนวคิดแตกต่างจากสวนสาธารณะปกติอย่างไร สินมั่นคงประกันสุขภาพมีข้อมูลมาเล่าให้ฟังค่ะ
สวนเพื่อสุขภาพคืออะไร?
ข้อมูลจาก CITY CRACKER ระบุว่า สวนเพื่อสุขภาพ คือ การใช้องค์ประกอบทางธรรมชาติและการออกแบบมาใช้ในการบรรเทาความเครียด ฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยใช้องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและการรักษาโรคจากสมมติฐานที่ว่า จิตสำนึกภายในของมนุษย์มีความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ จึงรู้สึกต้องการและโหยหา เมื่อได้สัมผัสหรือมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติจึงเกิดความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย
สวนเพื่อสุขภาพ พัฒนาจากการสร้างสวนเพื่อประดับ ให้มีความสามารถในการฟื้นฟู เยียวยา ผนวกกับกระบวนการรักษาโรคทางกาย การบรรเทาความเครียด ไปจนถึงการส่งเสริมประสาทสัมผัสและคุณภาพชีวิต สวนนี้ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แค่ในสถานพยาบาล แต่เป็นสวนที่ก่อให้เกิดกระบวนการเพื่อเน้นการบรรเทา (Heal) ไม่ใช่การรักษา (Cure) ผ่านการใช้กิจกรรมทางกายและพืชพรรณธรรมชาติ ช่วยลดอุณภูมิพื้นที่ภายนอก สร้างบรรยากาศที่ดี ลดความตึงเครียด และช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น
การออกแบบสวนเพื่อสุขภาพ
การออกแบบสวนเพื่อสุขภาพ คือ เพื่อการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระและสามารถให้ผู้คนเข้าใช้งานได้มากที่สุด เป็นการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) และหากพื้นที่สวนเพื่อสุขภาพถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล ก็ไม่ควรจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ของผู้ใช้งานทุกประเภท เช่น ควรมีราวจับพยุงตัว พื้นผิวไม่ลื่น มีระยะห่างของที่นั่งที่พอเหมาะ
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้งานภายในพื้นที่สวนเพื่อสุขภาพ พบว่าการได้เห็น ได้กลิ่นและได้ยินเสียงพืชพรรณช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสดชื่นขึ้น สวนเพื่อสุขภาพจึงควรออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ ได้แก่
- การมองเห็น
- การได้ยิน
- การได้กลิ่น
- การรับรู้รสชาติ
- อุณหภูมิ และเวลา
- การสัมผัส
การรับรู้เหล่านี้มีผลต่อประสบการณ์ที่แต่ละคนจะได้รับจากการเข้าใช้งานพื้นที่ โดยแต่ละสวนสามารถมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้สวนสาธารณได้ตามความต้องการ แต่ในโรงพยาบาล สวนเพื่อสุขภาพมักถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการรักษาผู้ป่วย จึงเกิดเป็นสวนเพื่อการรักษาโรค (Therapeutic garden) ที่สอดแทรกการรักษาเอาไว้ด้วย
Therapeutic Garden หรือ สวนส่งเสริมทางการแพทย์ คืออะไร?
สวนส่งเสริมทางการแพทย์ เป็นสวนที่ออกแบบเพื่อรักษาโรค เกี่ยวเนื่องกับอาการของโรคและสภาพทางกายของผู้ป่วย ถือเป็นจุดบรรจบของการรักษาทางการแพทย์และการออกแบบโดยการใช้พืชพรรณธรรมชาติเป็นเครื่องมือ บางพื้นที่ใช้สวนลักษณะนี้ฟื้นฟูหรือเป็นสวนพักพิงทางจิตใจแก่ผู้ป่วย ด้วยการออกแบบให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสวน
ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมักมีความเครียดจากการอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน จึงควรมีการออกแบบพื้นที่ภายนอกด้วยหลักการของสวนเพื่อสุขภาพ ตรวจสอบผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอและพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ป่วยแต่ละประเภท ก็จะมีความต้องการและข้อกำจัดทางกายที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น
- สวนฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือได้รับความเสียหายทางสมอง จะต้องทำการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวร่างกายและรยางค์ต่างๆ เช่น การเดิน ดังนั้นจึงควรออกแบบพื้นที่เพื่อฝึกฝนการเดิน เสริมความมั่นใจ พื้นไม่ลื่น มีการเปลี่ยนความลาดชันและมีเนินสูงต่ำ ใช้พืชพรรณที่มีความสูง มีลักษณะใบและสีสันที่หลากหลาย มีที่นั่งเพื่อเข้าไปสังเกตในระยะใกล้ ฟื้นฟูระบบการรับรู้
- สวนเพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยแอลกอฮอล์เรื้อรัง ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของการยอมรับตนเองของ 12 Steps Alcoholics Anonymous model ซึ่งอาจออกแบบพื้นที่ที่ผู้ใช้งานสามารถสะท้อนความรู้สึกนึกคิดได้
- สวนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีความผิดปกติในการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งงานออกแบบมีผลมากที่สุดต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ การใช้งานพื้นที่ควรออกแบบให้เรียบง่าย คือ มีเส้นทางเข้าออกเพียงทางเดียว เส้นทางเดินควรเป็นทางบรรจบกัน การออกแบบพืชพรรณ ใช้พืชพรรณที่สะท้อนถึงความทรงจำในวัยเด็ก เนื่องจากความทรงจำระยะยาวเป็นส่วนที่ไม่ถูกหลงลืม รวมถึงพืชพรรณไม่ควรเป็นพืชที่รับประทานไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีความเป็นไปได้ที่จะนำเอาพืชเข้าปาก วัสดุที่ใช้ไม่ควรเป็นวัสดุลื่น มีแสงสะท้อน
- สวนบำบัดเพื่อผู้สูงอายุได้ การออกแบบพื้นที่สำหรับการฟื้นฟู สำหรับผู้สูงอายุและการทำกายภาพบำบัด จะต้องมีการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่วน คือ การเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส ใช้พืชพรรณที่มีลักษณะเป็นป่า มีไม้ดอกหอมและให้ดอกที่มีสีสัน เสียงน้ำตก เพื่อกระตุ้นประสาทรับรู้ของผู้สูงอายุ ส่วนการกายภาพบำบัดใช้การสัมผัสพื้นที่มีลักษณะพื้นผิวแตกต่างกัน มีการใช้กรวดเพื่อเพิ่มความขรุขระ และออกแบบเส้นทางการเดินเพื่อฝึกฝน คือ ทางเดินพื้นเรียบ ทางเดินลาด และทางเดินชั้นบันได ซึ่งมีระยะที่เหมาะสมที่ผู้ป่วยและผู้ช่วยสามารถเดินไปด้วยกันได้ พร้อมราวจับตลอดทางเดิน
- สวนสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรออกแบบให้ผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญความร้อนหรือแสงแดด เนื่องจากการรักษาด้วยยาและการฉายแสง
การออกแบบสวนเพื่อสุขภาพจะต้องพิจารณาการออกแบบเพื่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจควบคู่กัน พื้นที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพทางกาย คือ ต้องมีพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางกายและกิจกรรมทางสังคม ผู้ใช้งานทุกรูปแบบสามารถเข้าถึงได้สะดวก สุขภาพจิตใจ จะต้องมีพื้นที่ที่มีรูปแบบของการสื่อสารกับผู้ใช้ที่หลากหลาย ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะอยู่ลำพังหรือรวมกลุ่มได้ ทั้งนี้จะต้องพิจารณากลุ่มผู้ใช้และเป้าหมายของการใช้งานพื้นที่ เนื่องจากอาจมีผู้ใช้บางกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะที่สอดคล้องกับอาการโรค ซึ่งอาจต้องการใช้พื้นที่ภายนอกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษา
ไม่มีความคิดเห็น: