Ads Top

SMK Insurance

สินมั่นคงประกันภัย : ฟื้นฟูกิจการไม่ได้แปลว่าล้มละลาย! แต่เป็นทางรอดของธุรกิจ

เมื่อธุรกิจต้องประสบปัญหาหรือมีภาวะขาดทุนสะสม ผู้บริหารจำเป็นจะต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาคือการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง แล้วการฟื้นฟูกิจการคืออะไร? และเพราะเหตุใดจึงต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง?

ฟื้นฟูกิจการคืออะไร?

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ให้ข้อมูลว่า “การฟื้นฟูกิจการไม่ใช่การล้มละลาย” แต่เป็นการรักษาให้กิจการยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด รวมถึงให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้่การยื่นขอฟื้นฟูกิจการถือเป็นการรักษาความอยู่รอดของธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ใครได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ?

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้น และสังคม เพราะยังสามารถรักษากิจการให้ดำเนินการไปได้ตามปกติ ลดความเสี่ยงต่อการถูกเลิกกิจการและการถูกฟ้องล้มละลาย อันจะช่วยรักษาการจ้างงานไว้ได้ ที่สำคัญการฟื้นฟูกิจการจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่าการล้มละลาย

ศาลล้มละลายกลางคือใคร?

ข้อมูลจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายพ.ศ. 2542 ระบุว่า ศาลล้มละลาย เป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คดีล้มละลายซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไปได้รับการพิจารณาพิพากษาจากผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ และเนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วย “การฟื้นฟูกิจการ” ได้ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายที่ต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด ว่าการยื่นขอฟื้นฟูกิจการคือการยื่นขอล้มละลาย

กระบวนการภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ

หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูกิจการ คือ เมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay จะเกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณา จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ศาลยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

“สภาวะการพักการชำระหนี้” ถือเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ ทั้งนี้เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้อง (แต่ประโยชน์ของลูกหนี้ที่จะได้รับ ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ได้อาศัยการพักชำระหนี้เป็นเหตุของการประวิง)

หน้าที่ของลูกหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างไร?

กฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินการค้าสามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น ลูกหนี้จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

กิจการภายหลังจากการเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ

บริษัทที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ เมื่อการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ ก็สามารถกลับมาเป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งและมีการเติบโตได้เช่นเดิม เมื่อศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ในกรณีที่ศาลพิจารณาเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว

การฟื้นฟูกิจการจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่มีเหตุผลและความจำเป็น รวมถึงมีช่องทางที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.