พายุเข้าไทยวันนี้ ต้องระวังอะไร? เอาตัวรอดจากฟ้าผ่าได้อย่างไร?
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพบเจอกับพายุในหลากหลายประเภท (ทำความรู้จักกับ “พายุ” มีกี่ประเภท? เกิดได้อย่างไร? https://www.smk.co.th/newsdetail/2814) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพายุฝนที่มักจะเดินทางมาช่วงหลังเลิกงาน แต่สิ่งหนึ่งที่มักมากับพายุฝน คือ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในที่โล่งแจ้งได้ แล้วจะมีวิธีเอาตัวรอดจากฟ้าผ่าได้อย่างไร สินมั่นคงประกันภัยมีข้อมูลมาฝากค่ะ
ฟ้าผ่า เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ฟ้าผ่า เกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าออกจากเมฆฝนฟ้าคะนองที่มีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่ บริเวณฐานเมฆจะสูงจากพื้นประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนยอดเมฆอาจสูงถึง 20 กิโลเมตร โดยภายในก้อนเมฆจะมีการไหลเวียนของกระแสอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ท้าให้หยดน้ำและก้อนน้ำแข็งในเมฆเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า โดยพบว่าประจุบวกมักจะอยู่บริเวณยอดเมฆ ส่วนประจุลบอยู่บริเวณฐานเมฆ ซึ่งประจุลบที่ฐานเมฆอาจจะเหนี่ยวนำให้พื้นผิวของโลกที่อยู่ใต้เงาของเมฆก้อนนั้นมีประจุเป็นบวกด้วย
ฟ้าผ่า อันตรายอย่างไร?
ฟ้าผ่า สามารถแบ่งออกได้อย่างน้อย 4 แบบหลัก ได้แก่
- ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ
- ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง
- ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบลบ
- ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น เรียกว่า ฟ้าผ่าแบบบวก
ทั้งนี้ ฟ้าผ่าทั้งแบบลบและแบบบวกจะเป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นดินหรือผืนน้ำ โดยฟ้าผ่าแบบลบจะผ่าลงบริเวณใต้เงาของเมฆฝนฟ้าคะนองเป็นหลัก เพราะพื้นที่ดังกล่าวจะถูกเหนี่ยวน้าให้มีสภาพเป็นประจุบวก ส่วนฟ้าผ่าแบบบวกสามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆถึง 40 กิโลเมตร ภายในเวลา 1 วินาที โดยมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนองคือหลังจากที่ฝนซาแล้ว
เอาตัวรอดจากฟ้าผ่าเมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
- กรณีอยู่กลางแจ้ง
- ไม่หลบพายุฝนในบริเวณพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะใต้ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่สูงโดดเด่น ใกล้ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าแรงสูง หรือบริเวณสิ่งปลูกสร้างที่มีส่วนประกอบหลักเป็นโลหะ สระน้ำ แหล่งน้ำ เพราะโลหะและน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
- หลีกเลี่ยงการถือวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าในระดับเหนือศีรษะขึ้นไป โดยเฉพาะร่มที่มีส่วนยอดเป็นโลหะ คันเบ็ด จอบ เสียม รวมถึงไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน ทอง นาก ทองแดง เพราะเป็นสื่อนำไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า (ใส่เครื่องประดับที่มีทองแดงจะถูกฟ้าผ่าหรือไม่? https://www.smk.co.th/newsdetail/2792)
- งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด แม้โทรศัพท์ไม่ใช่สื่อนำไฟฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์ ซึ่งมีแผ่นโลหะ สายอากาศ และแบตเตอรี่เป็นส่วนผสมของโลหะ ทำให้ได้รับอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า
- หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่เกิดฝนฟ้าคะนอง อาทิ เล่นกีฬา ว่ายน้ำ ทำการเกษตร โดยเฉพาะบริเวณสระน้ำ ทะเล ชายหาด สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ ภูเขาสูง ทุ่งนา เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า
- กรณีไม่สามารถหาที่หลบในบริเวณที่ปลอดภัยได้ ให้นั่งยอง ๆ เท้าชิดกัน พร้อมเขย่งปลายเท้าให้สัมผัสกับพื้นน้อยที่สุด ก้มศีรษะและซุกเข้าไประหว่างขา จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
- กรณีอยู่ในอาคาร
- ควรอยู่ในอาคารที่มีสายล่อฟ้า ห้ามขึ้นไปบนดาดฟ้า ไม่อยู่บริเวณมุมตึก และระเบียงด้านนอกของอาคาร ไม่เข้าใกล้ประตูหรือหน้าต่างที่เป็นโลหะระหว่างเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากเป็นพื้นที่โล่งและมีสื่อนำไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์แบบมีสาย เครื่องทำน้ำอุ่น เพราะหากฟ้าผ่าลงมาภายนอกอาคาร กระแสไฟฟ้าจะวิ่งมาตามเสาอากาศ เสาสัญญาณ สายไฟฟ้า และท่อน้ำประปา ทำให้อุปกรณ์ได้รับความเสียหายและผู้ใช้งานได้รับอันตราย
- ควรถอดสายไฟฟ้า สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ต จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า
- เตรียมไฟฉายไว้ส่องดูทาง เพราะอาจเกิดไฟดับหรือไฟไหม้ได้ แต่ไม่ควรใช้เทียนไขในบ้าน เพราะอาจเสี่ยงต่อไฟไหม้
- กรณีขับรถ
- จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่จอดรถใกล้ต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาบริเวณดังกล่าว
- หลบในรถพร้อมปิดประตูและหน้าต่าง ไม่สัมผัสตัวถังรถที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ ขณะที่เกิดฟ้าผ่าห้ามวิ่งลงจากรถ หรือยื่นอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดออกจากรถ เพราะกระแสไฟฟ้าจะไหลไปตามผิวโลหะของตัวถังรถลงสู่พื้นดิน
พบเห็นผู้ถูกฟ้าผ่า ปฐมพยาบาลอย่างไร?
- สังเกตว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามี ต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย
- สามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว
- หากพบว่าผู้บาดเจ็บหมดสติไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ต้องรีบทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) และแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที
การป้องกันอันตรายและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ในการดำเนินชีวิตช่วงฤดูฝนได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น แล้วเลือกประกันภัยอุบัติเหตุที่ให้ความคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง ทุกแห่งทั่วโลก กรณีประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/productpadetail/2 หรือ โทร.1596 Line : smkinsurance และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น: