เลือกถังดับเพลิงอย่างไร? พร้อมวิธีใช้และตรวจสอบคุณภาพถัง
เหตุเพลิงไหม้ มักเป็นสิ่งที่หลายคนไม่อยากให้เกิด เพราะนอกจากจะต้องสูญเสียทรัพย์สินไปกับกองเพลิงแล้ว อาจยังจะได้รับบาดเจ็บหรือเป็นภัยต่อชีวิตได้เช่นกัน (เกิดเหตุเพลิงไหม้ต้องทำอย่างไร...ตั้งสติได้ก่อน ปลอดภัยกว่า https://www.smk.co.th/newsdetail/1616) หนึ่งในทางป้องกันเหตุเพลิงไหม้ไม่ให้ลุกลามใหญ่โต คือการมีถังดับเพลิงติดบ้านไว้เพื่อความปลอดภัย แล้วควรมีวิธีการเลือกถังดับเพลิง รวมถึงมีวิธีใช้และตรวจสอบคุณภาพถังดับเพลิงอย่างไร สินมั่นคงประกันภัย มีข้อมูลมาฝากค่ะ
เลือกถังดับเพลิง ต้องดูประเภทของเพลิงไหม้
ในการเลือกถังดับเพลิงให้เหมาะกับการใช้งานนั้น จำเป็นจะต้องดูลักษณะของการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งโดยปกติแล้วสาเหตุหลักของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจาก 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความร้อน อากาศ และเชื้อเพลิง ซึ่งเชื้อเพลิงเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดประเภทเพลิงแต่ละประเภท โดยสามารถแบ่งประเภทเพลิงออกเป็นทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่
1. เพลิงไหม้ประเภท A (Ordinary Combustibles)
เพลิงไหม้ประเภท A มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย หรือของแข็งที่สามารถพบได้ทั่วไปตามอาคาร ที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า เช่น ไม้ ผ้า ขยะ พลาสติก กระดาษ เป็นต้น ซึ่งเพลิงประเภท A สามารถดับได้ง่ายๆ ด้วยน้ำเปล่า
2. เพลิงไหม้ประเภท B (Flammable Liquids)
เพลิงไหม้ประเภท B มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวหรือก๊าซที่สามารถติดไฟได้ โดยของเหลวที่สามารถติดไฟมักมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าซ สามารถพบได้ตามปั๊มน้ำมันหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และโรงงานที่ผลิตสีบางชนิด โดยเพลิงประเภท B สามารถดับได้ด้วยการตัดออกซิเจนในอากาศ
3. เพลิงไหม้ประเภท C (Electrical Equipment)
เพลิงไหม้ประเภท C มีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลเวียน เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลเวียนอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดความร้อนสูง หากอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดอาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าจัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ได้ โดยเพลิงไหม้ประเภท C จำเป็นต้องตัดระบบไฟฟ้าก่อนดับเพลิงทุกครั้ง
4. เพลิงไหม้ประเภท D (Combustible Metals)
เพลิงไหม้ประเภท D มีสาเหตุมาจากโลหะที่สามารถติดไฟได้ สามารถพบได้ตามห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง และโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานโลหะ เช่น Titanium, Aluminium, Potassium และ Magnesium เป็นต้น โดยเพลิงประเภท D ไม่สามารถดับได้ด้วยน้ำเปล่า
5. เพลิงไหม้ประเภท K (Combustible Cooking)
เพลิงไหม้ประเภทนี้มีสาเหตุมาจากน้ำมันที่ใช้ในครัว ไขมันสัตว์ และของเหลวที่ใช้ประกอบอาหาร สามารถพบได้ตามห้องครัว ร้านอาหาร หรือห้องอาหารตามโรงแรม เป็นต้น
เลือกถังดับเพลิงจากคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการดับไฟ
การเลือกถังดับเพลิงยังสามารถดูได้จากประสิทธิภาพในการดับเพลิงของถังดับเพลิง หรือ Fire Rating ซึ่งถูกกำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ที่กำหนดให้ Fire Rating เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อควบคุมคุณภาพของถังดับเพลิงและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดย มอก. 332-2537 ได้กำหนดสมรรถนะของถังดับเพลิงไว้เพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างของประสิทธิภาพในการดับเพลิงเพื่อการเลือกใช้ที่เหมาะสม ดังนี้
- A คือ ประสิทธิภาพในการดับเพลิงไหม้ประเภท A เช่นไม้ กระดาษ ผ้า พลาสติก เป็นต้น
- B คือ ประสิทธิภาพในการดับเพลิงไหม้ประเภท B ที่เป็นของเหลว เช่น น้ำมัน ก๊าซติดไฟ เป็นต้น
- ตัวเลข 1 2 3 4 ยิ่งตัวเลขมีจำนวนมาก ยิ่งมีประสิทธิภาพในการดับเพลิงจะมากขึ้นตามไปด้วย
วิธีการใช้งานถังดับเพลิง
วิธีการใช้ถังดับเพลิง โดยหลักการแล้ว เพียงแค่ ดึง ปลด กด และส่าย โดยมีรายละเอียดวิธีใช้ถังดับเพลง ดังนี้
- เข้าไปทางเหนือลม โดยเว้นระยะห่างจากเพลิงไหม้ประมาณ 2 – 3 เมตร และดึงสลักออกจากถังดับเพลิง หากไม่สามารถดึงสลักออกได้ ให้ใช้การบิดช่วย
- ปลดสายฉีดของถังดับเพลิงออก และยกหัวฉีดชี้ไปที่ฐานของเพลิง โดยทำมุมประมาณ 45 องศา
- กดคันบีบของถังดับเพลิงเพื่อให้สารเคมีที่บรรจุภายในถังพุ่งออกมา
- ส่ายปลายหัวฉีดไปมาที่ฐานเพลิงไหม้ ไม่แนะนำให้ฉีดบริเวณเปลวเพลิง
- หากเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่ต่างระดับให้ฉีดจากข้างล่างขึ้นข้างบน
- กรณีน้ำมันรั่วไหลให้ฉีดจากปลายทางที่รั่วไปจุดที่รั่วไหล
- กรณีเพลิงไหม้ที่สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ จำเป็นต้องตัดกระแสไฟก่อน
วิธีตรวจเช็กสภาพถังดับเพลิง
การมีถังดับเพลิงไว้ จำเป็นต้องตรวจสภาพทุกๆ 6 เดือน โดยผู้ตรวจสอบจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับถังดับเพลิงทุกประเภท หรือ ตัวแทนจำหน่ายถังดับเพลิงที่มีความเชี่ยวชาญ โดยวิธีตรวจเช็คสภาพถังดับเพลิง มีดังนี้
- ตรวจสอบสลักและสายฉีด ตรวจสอบกระดูกงู สลัก โดยกระดูกงู สลัก และฟอยล์สีเงินจำเป็นต้องอยู่ครบ สายฉีดต้องไม่มีรอยแตกร้าว สภาพตัวถังต้องปกติ ไม่บุบ ไม่บวม และไม่ขึ้นสนิม และหัวฉีดต้องไม่อุดตัน หากพบอาการผิดปกติต้องแก้ไขทันที
- ตรวจสอบคันบีบและข้อต่อ ต้องไม่คดงอ ไม่ขึ้นสนิม หากพบว่าคันบีบ หรือ ข้อต่อของถังดับเพลิงผิดปกติจำเป็นต้องแก้ไข หรือส่งให้ตัวแทนจำหน่ายซ่อม
- ตรวจสอบสภาพถังดับเพลิง ต้องไม่มีรอยบุบ ไม่แตกร้าว สติกเกอร์บนถังดับเพลิงต้องไม่ฉีดขาด หรือจาง รายละเอียดข้อมูลต้องครบถ้วน
- ตรวจสอบมาตรวัดหรือชั่งน้ำหนักถัง โดยสังเกตจากเข็มต้องอยู่ระหว่างแถบสีเขียว กระจกต้องไม่เป็นฝ้า กระจกไม่แตกร้าว ไม่คดงอ หากผิดว่าเกจมาตรวัดผิดปกติ จำเป็นต้องส่งซ่อมกับตัวแทนจำหน่ายทันที
- การตรวจสภาพถังดับเพลิง ต้องลงวันที่ตรวจ ชื่อ หรือลายเซ็น ในช่องผู้ตรวจให้ครบถ้วน และถ้าหากกรณีเกิดการกระทบอย่างรุนแรงกับถังดับเพลิง ควรนำถังดับเพลิงไปตรวจสภาพใหม่อีกครั้ง
อายุการใช้งานของถังดับเพลิง
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง มีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี
- ถังดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ และถังดับเพลิงน้ำยาเหลวระเหย มีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี
ประกันอัคคีภัย ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย ทั้งเหตุเพลิงไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น เช่น แก๊สหุงต้ม (ไม่ใช่เพื่อการค้าหรือเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม) รวมถึงความเสียหายจากน้ำหรือสารเคมีที่ใช้ในการดับเพลิง ความเสียหายอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ ดับเพลิง หรือความเสียหายจากควัน เขม่า เกรียม อันเนื่องมาจากการเกิดอัคคีภัย สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/others/ประกันอัคคีภัย หรือ โทร. 1596 ตลอด 24 ชั่วโมง Line : smkinsurance และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น: