แมงดาถ้วยกินได้ไหม? แมงดาถ้วยกับแมงดาจานต่างกันอย่างไร?
ภายหลังจากเกิดเหตุการณชาวบ้านในจังหวัดตราด ไปขอแมงดาถ้วยจากชางประมง นำมาทำเป็น “ยำไข่แมงดา” รับประทาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ รักษาตัวในโรงพยาบาล 5 ราย (ตั้งวงกิน ‘ยำไข่แมงดาถ้วย’ แกล้มเหล้า เจอพิษดับ 2 สาหัส 5 https://www.dailynews.co.th/news/2118620/) และยังมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่เป็นประจำทุกปี เพราะอาหารบางประเภทก็สามารถทำให้เกิดโทษได้มากกว่าที่คิด (อาหารบางอย่างกินผิดเวลาอาจเกิดโทษได้ https://www.smk.co.th/newsdetail/212) คงจะดีกว่าหากรู้ว่า แมงดาถ้วยกับแมงดาจานแตกต่างกันอย่างไร แมงดาชนิดไหนกินได้หรือไม่ สินมั่นคงประกันภัยมีข้อมูลมาฝากค่ะ
แมงดาทะเล มีชนิดไหนบ้าง?
ข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า แมงดาทะเลที่พบในน่านน้ำไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ
1. แมงดาจาน หรือ แมงดาทะเลหางเหลี่ยม ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้ ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าแมงดาถ้วย พื้นผิวด้านบนเรียบ มีสีน้ำตาลอมเขียว มีหางเหลี่ยม มีสันและหนามเรียงกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย
2. แมงดาถ้วย หรือ แมงดาทะเลหางกลม หรือ เห-รา หรือ แมงดาไฟ มีพิษไม่สามารถรับประทานได้ ลำตัวโค้งกลม มีหางกลม ผิวด้านบนมีขนสั้น สีน้ำตาลอมแดง ต่อจากส่วนท้องมีหางค่อนข้างกลมไม่มีสันและไม่มีหนาม พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลนฝั่งอ่าวไทย และจะพบแมงดาทั้งสองชนิดนี้มากที่สุดตามพื้นที่แนวชายฝั่งของทะเล ตั้งแต่จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดไปจนถึงชุมพรและฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่สตูลไปจนถึงระนอง
แมงดาถ้วย อันตรายแค่ไหน?
ข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารพิษที่พบในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วยคือ สารเทโทรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) และซาซิท็อกซิน (saxitoxin) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในปลาปักเป้า ส่งผลต่อระบบควบคุมการหายใจถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งพิษในแมงดาถ้วยเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1. แมงดากินแพลงก์ตอนที่มีพิษหรือกินสัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่กินแพลงก์ตอนพิษเข้าไปทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดา
2. เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างพิษขึ้นมาได้เอง หรือสาเหตุประกอบกันทั้งสองอย่าง และที่สำคัญสารพิษทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นสารที่ทนต่อความร้อนได้ดี การปรุงอาหารด้วยความร้อนวิธีต่างๆ เช่น ต้ม ทอด หรือ อบ เป็นเวลานานมากกว่าชั่วโมงไม่สามารถทำลายสารพิษชนิดนี้ได้ จึงไม่ควรนำมารับประทานอย่างเด็ดขาด
หลังกินแมงดาถ้วยเข้าไป มีอาการเป็นอย่างไร?
ผู้ได้รับพิษจากแมงดาถ้วยเข้าไป อาการมักจะแสดงภายหลังรับประทานประมาณ 10 - 45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแหล่งที่อยู่อาศัยของแมงดา ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่น รับประทานไข่แมงดาถ้วย อาการเกิดพิษจะรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ
อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางราย อาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด
ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน ระบบหายใจล้มเหลว หมดสติ และสมองขาดออกซิเจน หากช่วยไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 - 24 ชั่วโมง
วิธีปฐมพยาบาลหลังจากรับประทานแมงดาถ้วย
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับพิษหลังจากรับประทานแมงดาถ้วย ให้ผู้ปฐมพยาบาลทำให้ผู้ป่วยหายใจคล่องที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ผายปอดจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้ำหรือยา เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการสำลักได้
เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมงดาทะเล แต่หากต้องการรับประทานขอให้เลือก แมงดาจาน โดยให้สังเกตลักษณะของหาง และงดรับประทานไข่แมงดาทะเลที่อยู่ในลักษณะบรรจุหีบห่อโดยไม่เห็นตัวและหางของแมงดาโดยเด็ดขาด เพราะไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นแมงดาชนิดไหน หรืออาจมีไข่แมงดาถ้วยปะปนอยู่ในไข่แมงดาจาน
พิษในแมงดาถ้วยไม่คงที่เท่ากันทั้งปี
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงพิษแมงดาถ้วยว่า ปัญหาของแมงดาถ้วย คือ พิษที่อยู่ในไข่จะไม่ได้คงที่เท่ากันทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ซึ่งจะพบว่า ปีไหนที่มีปริมาณแมงดาถ้วยมากก็จะมีปัญหามากตามไปด้วยเช่นกัน แม้ปีนี้จะพบค่อนข้างน้อยและอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลของแมงดาถ้วยแล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีคนเสียชีวิต เพราะแม้ความชุกของแมงดาถ้วยจะน้อยลงแล้วแต่ก็ยังคงมีพิษมากอยู่ คนขายหรือร้านอาหารจึงต้องมีความรับผิดชอบ ต้องให้แน่ใจว่าไม่เอาแมงดาถ้วยมาขาย เพราะส่วนมากจะแกะไข่ขายแทนการขายทั้งตัว ทำให้คนซื้อไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นแมงดาชนิดใด ส่วนประชาชนที่กินไข่แมงดาทะเล ต้องรู้ตัวว่าตัวเองมีความเสี่ยง หากกินแล้วเกิดอาการชา ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้การปฐมพยาบาลรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับพ่อค้า แม่ค้า ให้งดจำหน่ายไข่แมงดาทะเลหากไม่แน่ใจว่าเป็นไข่ที่มาจากแมงดาชนิดใดและให้เพิ่มความระมัดระวังในการแยกชนิดพันธุ์แมงดาทั้ง 2 ชนิดจากลักษณะภายนอกให้แน่ชัดก่อนนำมาขาย หากพบแมงดาถ้วย หรือ เหรา ปะปนเข้ามาให้คัดทิ้งทันที กรณีที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างของแมงดาทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ได้ สามารถสอบถามข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้าน Call Center กรมประมง โทร. 02 562 0600 หรือ https://www4.fisheries.go.th/dof/welcome
ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย ประกันภัยอุบัติเหตุ จะช่วยดูแลหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต โดยให้ความคุ้มครองต่ออุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ทุกแห่งทั่วโลก สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/productpadetail/2 หรือ โทร.1596 Line : @smkinsurance และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น: