Ads Top

SMK Insurance

เห็ดเผาะเกิดจากอะไร? เห็ดเผาะต้านเซลล์มะเร็ง-ชะลอความแก่

หนึ่งในของอร่อยประจำฤดูฝน หนีไม่พ้น “เห็ดเผาะ” อาหารหายากแสนอร่อยที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านนับหลักหมื่นต่อเดือน มากไปด้วยคุณค่าทางอาหารและประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างคุณประโยชน์ในการต้านเซลล์มะเร็งและชะลอความแก่ แล้วเห็ดเผาะเกิดจากอะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกายบ้าง สินมั่นคงประกันภัยมีข้อมูลมาฝากค่ะ

เห็ดเผาะ คืออะไร? เกิดจากอะไร?

“เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ตามป่าชื้น ส่วนมากจะพบเห็ดเผาะตามป่าธรรมชาติในช่วงต้นฤดูฝน ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีหรือเทคโนโลยีที่สามารถเพาะเองได้ หรืออาจจะมีแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงไม่ค่อยเห็นมีการเพาะเห็ดเผาะกันเป็นเรื่องเป็นราว สำหรับเห็ดเผาะที่หาซื้อหรือนำมากินทุกวันนี้เป็นเห็ดเผาะที่เก็บได้ตามป่าเต็งรังในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น

“เห็ดเผาะ” เกิดขึ้นได้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ เป็นที่นิยมกินกันทั่วไปตามหมู่บ้านแถวชนบท เป็นเห็ดที่มีขนาดเล็ก เกิดในป่าที่เป็นดินโคก หรือดินที่เป็นดินเหนียวปนหินดินแดง มักเกิดเป็นกลุ่มๆ มีลักษณะกลม แบน เป็นส่วนใหญ่ เห็ดเผาะที่มีสีออกคล้ำโทนน้ำตาล ชาวบ้านจะเรียก เห็ดเผาะ เฉยๆ แต่เห็ดเผาะ ส่วนที่มีสีโทนขาว และมีใยเหมือนฝ้ายพันรอบๆ เขาเรียกว่า เห็ดเผาะฝ้าย เพราะมีสีขาวเหมือนฝ้าย

เห็ดเผาะนั้นสามารถเพาะขึ้นมาได้โดยอาศัยต้นไม้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น และต้องอยู่ร่วมกันแบบอาศัยพึ่งพากับต้นเต็ง รัง ต้นยาง เมื่อมนุษย์ไม่สามารถเพาะเห็ดเผาะได้ จึงทำให้มีราคาแพงและหากินได้ยาก หากินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น 

เห็ดเผาะมีลักษณะอย่างไร?

เห็ดเผาะ เป็นเห็ดราชั้นสูง มีวิวัฒนาการมาหลายล้านปี ทำหน้าที่ปรับสภาพดิน แลกเปลี่ยนสารอาหาร ย่อยสลายสารที่จำเป็นต่อผืนป่าให้กลับคืนสู่ดิน ซึ่งส่วนมากป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง และป่าแดง จะเป็นถิ่นกำเนิดของเห็ดเผาะ และอาหารของเห็ดเผาะคือ สารขี้กะยือ ซึ่งได้จากการย่อยสลายของใบไม้ชนิดที่เกิดในป่าเต็งรัง และการทับถมของใบไม้ทำให้เกิดแบคทีเรียกลุ่มรูปทรงกลมรี หรือรูปไข่ เมื่อถูกน้ำฝนดูดซึมลงผืนดิน ก็จะปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยสลายสารอินทรีย์จนเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก เชื้อราของเห็ดเผาะจะดูดซึมสารเหล่านั้นเข้าสู่เซลล์จนเจริญเติบโต กลายเป็น “เห็ดเผาะ”

ชนิดของเห็ดเผาะ

ปัจจุบันพบเห็ดเผาะทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ 

  1. เห็ดเผาะฝ้าย หนังจะมีลักษณะบาง มีเส้นใยที่เป็นขุยสีขาวรอบๆ ผิวดอก และผิวอ่อนนุ่มกว่าเห็ดเผาะหนัง
  2. เห็ดเผาะหนัง ผนังมีผิวเรียบ ดอกเห็ดหนาและแข็ง จับรู้สึกแข็งไม่นุ่มมือ และมีรสชาติอร่อยกว่าเห็ดเผาะชนิดอื่น
  3. เห็ดเผาะสิรินธร 

วิธีเก็บ เห็ดเผาะ

1. เตรียมอุปกรณ์ได้แก่ 

  • ตะกร้าสำหรับเก็บเห็ด
  • ไม้เหลาแหลมแบนๆ ขนาดพอเหมาะมือเพื่อเขี่ยหน้าดิน 
  • บางครั้งอาจใช้ช้อนแกงที่ใช้กินข้าว แต่ส่วนมากจะไม่ใช้ของมีคมมาก เพราะจะไปบาดดอกเห็ด ทำให้เห็ดไม่สวย มีตำหนิ 

2. เวลาที่เหมาะแก่การหาเห็ดเผาะมากที่สุดคือหลังฝนตกใหม่ๆ เพราะน้ำฝนจะชะล้างหน้าดิน ทำให้เห็นดอกเห็ดเผาะได้ง่าย

3. เห็ดเผาะมักจะขึ้นใต้ต้นไม้ ให้มองหาพุ่มไม้ ใต้พุ่มไม้ สังเกตเห็นรอยนูนๆ และรอยแตกของดิน เอาไม้แหลมๆ หรือจะใช้ช้อนเขี่ยดินออก ก็จะเห็นเห็ดเผาะที่ฝังอยู่ในดิน หรือบางส่วนดอกเห็ดจะผุดขึ้นมาเหนือดินก็มีเช่นกัน

ประโยชน์ของเห็ดเผาะ

นักชีวเคมีจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาได้มีการศึกษาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งของเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ ที่มีชื่อว่า สารแอสตร้าเคอคูโรน (Astrakurkurone) และได้ตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการชื่อดังของสมาพันธ์ชีวเคมีและชีวโมเลกุลนานาชาติเมื่อปี 2562 พบว่าสารแอสตร้าเคอคูโรนในเห็ดเผาะสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในตับ โดยไม่ทำลายเซลล์ตับ โดยได้ศึกษาเปรียบเทียบกับยาเคมีต้านมะเร็งตับที่ชื่อ ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) ก็พบว่า ถึงแม้จะใช้ยาในขนาดที่น้อยมากก็ยังมีพิษต่อเซลล์ตับและไม่ปลอดภัยหากใช้ยาตัวนี้ในระยะยาว และสามารถสรุปได้ว่า สารสำคัญของเห็ดเผาะมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับอย่างชัดเจน และกำลังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อไป

นอกจากนี้ สารสำคัญที่มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยายังพบว่า เห็ดเผาะมีฤทธิ์ปกป้องตับ ปกป้องหัวใจ ต้านเบาหวาน ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์ต้านจุลชีพโดยเฉพาะฤทธิ์ต้านโปรโตซัวลิชมาเนีย แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น 

แม้จะยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดเผาะ แต่สำหรับผู้ที่แพ้เห็ดหรือแพ้สปอร์เห็ด ก็ควรระมัดระวังการรับประทานเห็ดเผาะด้วยเช่นกัน

เมนูเห็ดเผาะทำอะไรอร่อย?

เห็ดเผาะสามารถทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนและแต่ละภาค เช่น เห็ดถอบ ต้มเกลือจิ้มพริกป่นหรือพริกข่า ก็เป็นเมนูที่ทำง่ายๆ ที่โดนใจชาวเหนือหลายคน หรือถ้าในแถบภาคอีสานต้องยกให้เมนูแกงเห็ดเผาะใส่หน่อไม้ ใบย่านาง ไข่มดแดง ผักหวาน ผักติ้ว และปรุงรสชาติความหอมด้วยผักอีตู่ (ใบแมงลัก) หรืออาจจะนึ่งกินกับน้ำพริกเฉยๆ ก็ทำได้เช่นกัน แต่หากเป็นอาหารในภาคกลาง หรือภาคใต้ ก็อาจเลือกเป็นแกงคั่วใส่กะทิ หรือเลือกทำเป็นแกงส้ม ผัดเผ็ดก็ได้ ตามแต่ความชอบและความถนัด

ประกันภัยโรคมะเร็ง อีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินให้คุณ จ่ายเป็นเงินก้อนทันทีที่ตรวจพบโรคมะเร็งครั้งแรก สามารถใช้เป็นเงินชดเชยรายได้ในขณะเจ็บป่วยหรือพักฟื้น ไม่จำกัดวิธีการรักษา เช่น ธรรมชาติบำบัด ชีวจิต ฯลฯ เป็นทุนสำรองสำหรับครอบครัวในกรณีที่เสียชีวิต และไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนทำประกันภัย สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/producthealthdetail/6 หรือ โทร. 1596 ตลอด 24 ชั่วโมง Line : smkinsurance และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com 

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.