ดูแลดวงตาในยุค 4.0
การจ้องหน้าจอนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาเกร็งตัว เมื่อมองแสงสีของภาพจากจอ ภาพที่เคลื่อนที่เร็ว ทำให้ประสาทตาล้า เกิดอาการตาแห้ง ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้บ่อยครั้งเข้าก็จะส่งผลให้ประสาทตาเสื่อมสภาพเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเสี่ยงเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer vision syndrome) หรือโรคซีวีเอสได้
โรคซีวีเอส (CVS) เกิดจากพฤติกรรมการมองจอภาพเป็นเวลานาน ๆ ต่อเนื่องเกินสองถึงสามชั่วโมงต่อวัน เพราะต้องใช้กล้ามเนื้อรอบดวงตาและประสาทตาในลักษณะเพ่งจอตลอดเวลา จนเกิดอาการดวงตาล้า แสบตา ตามัว ตาแห้ง น้ำตาไหล มองเห็นภาพซ้อน ตาโฟกัสช้า เคืองตา และบ่อยครั้งมีอาการปวดหัว ปวดคอ ปวดไหล่ หรือปวดหลังร่วมด้วย ระดับความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้สายตาอยู่หน้าจอ ซึ่งทั้งหมด คือ
สัญญาณเตือนของการเกิดโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม และหากปล่อยทิ้งไว้ยังมีโอกาสที่จะเกิด ภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นถึง 30 %
วิธีการป้องกันและดูแลดวงตา
- วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากดวงตาประมาณ 20 – 28 นิ้ว และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวราบประมาณ 4 - 5 นิ้ว
- ปรับแสงสว่างหน้าจอให้พอเหมาะและไม่สว่างเกินไป
- หากลักษณะงานต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้ง วันทุก 1 - 2 ชั่วโมง ควรพักการใช้สายตาเป็นระยะ โดยใช้สูตรการพักสายตา 20 -20 - 20 คือ ละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุก 20 นาที แล้วมองไปที่วัตถุที่อยู่ไกลอย่างน้อย 20 ฟุต นานประมาณ 20 วินาที
- ขณะทำงานหน้าจอ ควรฝึกกะพริบตาบ่อย ๆ ทุก 4 วินาที / การกวาดสายตาไปที่ไกลๆ / การกรอกดวงตาไปทางซ้ายทางขวา ขึ้นบนและลงล่าง และหากแสบตามากอาจใช้น้ำตาเทียมช่วย
- ปรับห้องและบริเวณทำงาน อย่าให้มีแสงสะท้อนจากหน้าต่าง หรือหลอดไฟบริเวณเพดานห้องสะท้อนเข้าตา
- ควรใช้แผ่นกรองแสงวางหน้าจอ หรือใส่แว่นกรองแสง
- ปรับเก้าอี้นั่งให้พอเหมาะ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ใช้แว่นตา 2 ชั้น จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตา เพื่อจะได้ตรงกับเลนส์แว่นตา
- หมั่นจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ เพื่อป้องกันตาแห้ง
- ปกป้องดวงตาจากแสงแดด แสงแดดสามารถทำร้ายดวงตา เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม เมื่อต้องเผชิญกับแสงแดดหรืออยู่กลางแจ้งจึงไม่ควรปล่อยให้สายตาโดนแสงแดดโดยตรง ควรสามารถสวมแว่นตากันแดดชนิดที่มีเลนส์กรองแสงยูวีเอ (UV-A) และยูวีบี (UV-B) ที่มีป้ายระบุคุณสมบัติในการกรองรังสีได้ 99-100 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะมีประสิทธิภาพในการปกป้องได้สูงสุด
- ตรวจตาเป็นประจำ การเข้ารับการตรวจตาพร้อมกับวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคทางดวงตา เพราะโรคบางโรคไม่สามารถสังเกตหรือบอกได้ในช่วงแรก เช่น โรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ โรคเบาหวานขึ้นตา
- รับประทานสารอาหารวิตามินและเกลือแร่สำคัญที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น
วิตามินเอ ช่วยบำรุงจอตาหรือจอประสาทตาให้ทำงานเป็นปกติ มีสุขภาพดี สามารถผลิตน้ำตาที่ใช้หล่อลื่นภายในดวงตาให้ชุ่มชื้น และช่วยยับยั้งโรคทางสายตาอื่น ๆ เช่น อาการตาบอดกลางคืน (Night Blindness) โดยช่วยปรับการมองแสงในเวลากลางคืน โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ หรือโรคต้อกระจก
แหล่งที่พบได้ใน แครอท มันเทศ ผักขม ตับ เนื้อไก่ เนื้อวัว ไข่ แต่ควรระมัดระวังการได้รับวิตามินเอในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นโทษต่อร่างปริมาณทั่วไปที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 700 ไมโครกรัมในผู้ชาย และ 600 ไมโครกรัมในผู้หญิง
วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) จะช่วยควบคุมปฏิกิริยาทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับการออกซิเดชั่น (Oxidation) ที่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ และการรีดักชัน (Reduction) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงช่วยรักษาระดับของวิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 ให้เพียงพอ การขาดวิตามินบี 2 จะทำให้เกิดโรคต้อกระจกและผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณสำหรับผู้ใหญ่ที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน คือ 1.3 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 1.1 มิลลิกรัมในผู้หญิง
วิตามินซี มีความสำคัญหลายอย่างต่อร่างกาย เช่น การสร้างคอลลาเจน ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาจลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจก หรือโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ แหล่งที่พบได้ใน พริกหยวก บล็อคโคลี่ มันเทศ ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 90 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 75 มิลลิกรัมในผู้หญิง
วิตามินดี ส่วนใหญ่ได้มาจากการเปลี่ยนสารคอเลสเตอรอลให้กลายเป็นวิตามินดีเมื่อผิวหนังโดนแสงแดด ซึ่งวิตามินดีมีส่วนช่วยในกระบวนการสำคัญหลายอย่างของร่างกาย เช่น เสริมความแข็งแรงของกระดูก ควบคุมระดับแคลเซียม หากร่างกายขาดวิตามินดีอาจ ทำให้เกิดโรคต้อกระจก อาการตาแดง (Pinkeye) โรคกระจกตาย้วยหรือโป่งพอง (Keratoconus)
วิตามินอี สามารถพบได้ในกระจกตาและเลนส์แก้วตา เช่นเดียวกับวิตามินซี ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคต้อกระจก โรคจอตาเสื่อม และช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ พบได้ใน ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักใบเขียว น้ำมันพืช (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าว น้ำมันดอกคําฝอย) บล็อคโคลี่ ผักโขม ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 15 มิลลิกรัม
สินมั่นคงประกันภัย มีประกันสุขภาพหลายรูปแบบให้เลือก พร้อมค่าเบี้ยประกันที่ไม่แพง คลิก www.smk.co.th/prehealth.aspx หรือ โทร 1596
สินมั่นคงประกันสุขภาพ..เราประกัน คุณมั่นใจ..
Photo source: freepix.com
ไม่มีความคิดเห็น: