Ads Top

SMK Insurance

เบรกแตก !! ป้องกันได้ !! ด้วยวิธีดังนี้




อุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดขึ้นกับรถโดยสาร รถบรรทุกน้ำหนักมาก หรืออุบัติเหตุบนทางลงจากที่สูงชัน ส่วนใหญ่มักพบสาเหตุว่า เกิดจากรถเบรกแตก ทำให้เสียหลักหักหลบเข้าข้างทาง หรืออาจชนกับรถหลายๆคันที่อยู่ด้านหน้า หลายท่านอาจไม่แน่ใจว่า อาการเบรกแตกคืออะไร มีวิธีการป้องกัน และแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้รถของเราเกิดอาการนี้ รวบรวมคำตอบมาบอกกันดังนี้ 




อาการ "เบรกแตก" หมายถึง การที่เราเหยียบเบรก แล้วระบบเบรกไม่ทำงาน ไม่สามารถชะลอความเร็วหรือหยุดรถได้ แป้นเบรกจม ไม่ตอบสนองต่อการเหยียบของเท้า 


โดยปกติเมื่อเราเหยียบเบรกรถยนต์ แรงดันจากเบรกจะถ่ายทอดผ่านน้ำมันเบรกไปที่ระบบห้ามล้อ เพื่อให้รถชะลอตัวจนถึงหยุดสนิท ซึ่งขณะที่มีการทำงานของระบบเบรกนั้น น้ำมันเบรกจะมีจุดเดือดที่ส่งผลมาจากผ้าเบรกและจานเบรกที่มีอุณหภูมิสูงมาก ยิ่งรถที่มาด้วยความเร็วสูงหรือน้ำหนักมากๆ ด้วยแล้ว ความร้อนยิ่งสูง เพราะน้ำมันเบรกเป็นตัวกลางในการห้ามล้อ 


ดังนั้น ถ้าน้ำมันเบรก มีจุดเดือดต่ำและระเหยกลายเป็นไอไป ไม่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางไปห้ามล้อ รถจะเบรกไม่อยู่และเป็นที่มาของคำว่า “เบรกแตก” ที่ส่งผลให้ทำให้รถเสียการทรงตัว กำกับทิศทางไม่ได้เพราะชะลอตัวไม่ได้




สาเหตุที่ทำให้รถเบรกแตก


1. น้ำมันเบรกเสื่อมสภาพ จนทำให้ลูกยางในกระบอกปั๊มล้อที่ทำหน้าที่ป้องกันน้ำมันรั่ว เสื่อมสภาพตามไปด้วย จึงทำให้น้ำมันเบรกรั่วออกมา ซึ่งหากเราต้องการตรวจสอบลูกยางนี้ สามารถทำได้โดยถอดล้อออก จากนั้นถอดจานเบรกแล้วเปิดยางกันฝุ่นที่ครอบตัวกระบอกปั๊มออกมา และสังเกตดูหากมีน้ำมันเบรกรั่วออกมา ก็แปลว่าลูกยางเสื่อมแล้ว รีบทำการเปลี่ยนได้เลย


2. การไม่ชำนาญในการใช้เบรก เบรกแช่ เบรกบ่อย จนผ้าเบรกไหม้หมด ก็ทำให้เบรกแตกได้ง่ายๆ


3. เบรกแตกเนื่องจากตัวระบบเบรกขัดข้อง เพราะไฮดรอลิกไม่ทำงาน แรงดันของน้ำมันเบรกมาไม่เต็มระบบ อาการนี้เกิดขึ้นเพราะมีอากาศอยู่ในระบบน้ำมันเบรก ซึ่งอาจเป็นเพราะการไล่อากาศ หรือไล่ลมออกไปไม่หมดจากระบบตอนเปลี่ยนน้ำมันเบรกใหม่  จึงทำให้ไม่สามารถส่งแรงดันไปได้อย่างเต็มที่


4. ระบบสายอ่อนของเบรกแตก ลูกสูบเบรกค้าง ท่อทางเดินน้ำมันเบรกรั่ว ทำให้ระบบเบรกทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ


5. รถใหญ่ที่มีระบบเบรกแบบลม หากลมในหม้อเบรกหมด หรือเกิดจากวงจรน้ำมันเบรกถูกแทนที่ด้วยฟองอากาศ ทำให้กำลังส่งแรงดันจากการเบรกทำงานไม่ได้เต็มที่


6. ลูกยางในกระบอกปั๊มเสื่อม น้ำมันเบรกรั่วทำให้การทำงานในหน้าที่ตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างแรงดันจากการเบรกไปที่ห้ามล้อไม่สมบูรณ์


7. มีปัญหาจากน้ำมันเบรก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบรกหมด น้ำมันเบรกน้อย สิ่งเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้เบรกไม่อยู่ 


- น้ำมันเบรกหมด หรือ เหลือน้อย มันจะส่งผลทำให้เบรกใช้งานได้ไม่เต็มที่ เบรกไม่ค่อยอยู่ หรือเบรกจมลึกผิดปกติ ฯลฯ ให้ตรวจเช็กและเติมน้ำมันเบรกให้ถึงระดับที่กำหนด 


- น้ำมันเบรกชื้น ขณะที่กดเบรกลงไป เบรกจะมีความร้อน และการเสียดสีเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อน้ำมันเบรกมีความชื้นผสมอยู่ มันก็จะระเหยกลายเป็นไอ ลูกสูบไม่สามารถทำงานได้ จึงทำให้เบรกไม่อยู่นั่นเอง


7. ลูกสูบไม่ทำงาน เนื่องจากน้ำมันเบรกรับความร้อน อุณหภูมิสูงไปจนกลายเป็นไอ เนื่องจากจากระบบเบรกนั้น มีการเสียดสีที่กระตุ้นให้อุณหภูมิสูงขึ้น


8. สายเบรกขาด จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ เช่น มีสัตว์เข้าไปกัดสายเบรก หรือถูกตัดสายเบรกโดยผู้ไม่ประสงค์ดี


9. จานเบรกที่แตกแบบกะทันหัน กรณีนี้เป็นอันตรายมาก เพราะจะรู้เมื่อจานเบรกแตกแล้ว


10. ผ้าเบรก หากผ้าเบรกหมด ผ้าเบรกไหม้  ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่รถจะเบรกแตกได้





วิธีป้องกันไม่ให้รถเบรกแตก


1. ตรวจเช็กคุณภาพของกระบอกปั๊มล้อว่ายังทำให้น้ำมันเบรกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยการ ถอดล้อและจานเบรกออกเช็กสภาพของยางกันฝุ่นที่ครอบกระบอกว่าเสื่อมจนทำให้มีน้ำมันเบรกรั่วได้หรือไม่ ถ้าพบว่าลูกยางเสื่อมแล้ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เปลี่ยนทันที


2. เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกทุกๆ ปี เพราะโดยธรรมชาติน้ำมันเบรกจะดูดซับความชื้นเอาไว้ ยิ่งน้ำมันเบรกมีความชื้นสูง ก็จะยิ่งมีจุดเดือดต่ำ ระเหยกลายเป็นไอแทนที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับแรงดันจากการเบรกไปห้ามล้อให้หยุด การเปลี่ยนน้ำมันเบรกจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสภาพลูกยางรั่ว ป้องกันไม่ให้ความชื้นไปทำให้เกิดสนิม


3. คอยเช็กน้ำมันเบรกอยู่เสมอว่าอยู่ในปริมาณปกติหรือไม่ 


3. เลือกใช้ผ้าเบรกที่มีคุณภาพสูง ทนความร้อนได้ดี  และหมั่นเช็กประสิทธิภาพของผ้าเบรกอยู่เสมอ เพราะการเบรกแต่ละครั้งมีผลให้ผ้าเบรกบางลง หากพบว่า ผ้าเบรกบางลงเหลือน้อยกว่า 3 มิลลิเมตรต้องรีบเปลี่ยน เพราะรถที่ลงจากที่สูงจะเปลืองผ้าเบรกมาก มีความเสี่ยงเบรกแตกยิ่งขึ้น


4. เช็กสภาพจานเบรกด้วย ว่ามีแนวโน้มเสื่อมสภาพหรือยัง



ข้อควรปฏิบัติเมื่อรถเบรกแตก


ควรตรวจสอบระบบเบรกอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์เบรกแตก แต่หากอยู่ในสถานะการณ์นี้เราควรทำดังนี้


1. สติ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะประคองรถไม่ให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ถ้าคนขับมีสติก็จะสามารถประคองรถให้อยู่บนเส้นทางได้ ไม่พลิกคว่ำหรือหลุดออกข้างทางเสียก่อน


2. ให้รีบเปิดไฟฉุกเฉินขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นสัญญาณเตือนภัยให้รถคันอื่นที่อยู่ในบริเวณนั้นระมัดระวังรถของเรา และให้ขับรถห่างจากรถของเรา


3. ลดความเร็วของรถด้วยการไม่เหยียบคันเร่ง ห้ามปล่อยมือจากพวงมาลัยอย่างเด็ดขาด


4.  ลดเกียร์ลง ถ้ารถใช้เกียร์กระปุก ให้ลดเกียร์ลงโดยให้ใช้การเหยียบคลัตช์ พร้อมกับการไต่ลดระดับเกียร์ จาก 5 มา 4 3 2 และ 1 เพื่อเป็นการชะลอความเร็วอย่างเป็นลำดับ ไม่ทำให้รถหมุนเสียการทรงตัวจนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง


สำหรับคนที่ขับรถยนต์ในระบบเกียร์ออโต้ ให้ใช้วิธีดึงเกียร์จากตำแหน่งขับหรือ D มาเป็นเลข 3 และ 2 และสิ้นสุดที่  L เป็นลำดับ ห้ามใช้วิธีเลื่อนเกียร์ข้ามจาก D มา L อย่างกะทันหัน เพราะจะทำให้รถยนต์เสียการทรงตัวและทำให้ระบบเกียร์ออโต้พังไม่สามารถควบคุมได้


5. พยายามประคองความเร็วและทิศทางรถอย่างดีที่สุด หากอยู่ใกล้เลนด้านซ้ายที่รถส่วนใหญ่วิ่งด้วยความเร็วต่ำ ก็ควรประคองเพื่อชิดขอบถนนซ้ายให้มากที่สุด แต่หากอยู่เลนทางด้านขวาที่รถมักวิ่งเร็วต้องพยายามประคองให้รถวิ่งในเลนถนนที่โล่ง ไร้สิ่งกีดขวางให้มากที่สุด


4. เบรกมือสามารถช่วยชะลอรถให้ช้าลงได้ แต่ห้ามดึงสุดแรงจนรถเสียหลักพลิกคว่ำ


5. หาจุดที่น่าจะจอดรถได้ปลอดภัยเพื่อเข้าจอด


การเดินทางทุกครั้ง อาจเสี่ยงกับภัยอันตรายรอบตัว ที่เกิดจากความประมาทของเรา หรือจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพิ่มความคุ้มครองหากเกิดเหตุ ด้วยประกันภัยรถยนต์ ที่จะช่วยดูแลรถและคุณ จากเหตุต่างๆ สินมั่นคงประกันภัยพร้อมดูแลคุณด้วยหลากหลายแผนความคุ้มครอง ด้วยราคาที่ไม่แพง สามารถตรวจเบี้ยประกันง่ายๆ ด้วยตนเอง 

คลิก  www.smk.co.th/premotor.aspx  หรือ โทร. 1596  

สินมั่นคง ..ประกันรถ ประกันเวลา..


ขอบคุณภาพจาก: freepix.com

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.