Ads Top

SMK Insurance

“แบตเตอรี่แห้ง” คืออะไร? แบบไหนดีกว่ากัน?

“แบตเตอรี่แห้ง” (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) คือ แบตเตอรี่รถยนต์รูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเพิ่มตลอดอายุการใช้งาน นับเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของแบตเตอรี่รถยนต์ในปัจจุบันที่มีให้เลือกหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่รถยนต์แบบดั้งเดิมที่ต้องคอยเติมน้ำกลั่นหรือที่รู้จักกันในชื่อ “แบตเตอรี่น้ำ” (Conventional Battery) หรือแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยๆ แบบ “แบตเตอรี่กึ่งแห้ง” (Maintenance Free Car Battery - MF) แล้วแบตเตอรี่แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร? สินมั่นคงประกันภัยรถยนต์มีข้อมูล “แบตเตอรี่แห้ง” มาฝากค่ะ

1. “แบตเตอรี่แห้ง” คืออะไร

แบตเตอรี่แห้ง (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) คือ แบตเตอรี่แบบกรดตะกั่วอีกประเภทหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดขั้นตอนในการดูแลรักษาแบตเตอรี่รถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่มีช่องสำหรับเปิด-ปิดเพื่อเติมน้ำกลั่นแบบที่มีในแบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่น้ำกรดภายในแบตเตอรี่จะรั่วไหลออกมาทำลายเครื่องยนต์ ตลอดจนอายุการใช้งานของแบตเตอรี่แห้งที่มากกว่าแบตเตอรี่น้ำ ทำให้แบตเตอรี่ประเภทนี้มีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป

อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่แห้ง อาจไม่ได้แห้งสนิทตามชื่อที่เรียก เพราะภายในแบบเตอรี่แห้งบางรุ่นหรือบางยี่ห้ออาจจะมีของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรไลต์ของแบตเตอรี่แห้งปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรดแบบตะกั่ว หรือของเหลวที่มีลักษณะคล้ายเจล ซิลิโคน หรือแป้งน้ำ (Paste) ซึ่งการใช้เจลเป็นตัวอิเล็กทรอไรต์แทนน้ำกรดนั้นจะช่วยลดอัตราการสูญเสียน้ำ เเละเพิ่มการกักเก็บแก๊สไฮโดรเจนและออกซิเจนที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งานให้แปรสภาพกลับไปเป็นน้ำ ทำให้ลดความถี่ในการเติมน้ำกลั่น หรือไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเพิ่มเติมตลอดอายุการใช้งาน ดังที่เห็นได้จากแบตเตอรี่แบบแห้งส่วนใหญ่จะไม่มีรูสำหรับเติมน้ำกลั่น

“แบตเตอรี่แห้ง” เป็นที่รู้จักเเละถูกเรียกโดยย่อในหลากหลายชื่อ เช่น แบตเตอรี่แบบไม่ต้องเติมน้ำกลั่น, แบตเตอรี่แบบซีล (Sealed Maintenance Free) หรือแบตเตอรี่ VRLA (Valve Regulated Lead Acid) แต่มักถูกเข้าใจผิดกับ “แบตเตอรี่เมนเทแนนซ์ฟรี” (Maintenance Free Car Battery - MF) หรือมักถูกเรียกโดยทั่วไปว่า “แบตเตอรี่กึ่งแห้ง” ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ยังสามารถเติมน้ำกลั่นได้อยู่ เเต่มีการระเหยตัวของน้ำกรดที่ช้ากว่าแบตเตอรี่น้ำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยครั้ง เเละอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 1 - 2 ปี หรือไม่เกิน 3 ปี

ทั้งนี้ แบตเตอรี่แห้งจะได้รับการเติมน้ำกรดและชาร์จไฟตามมาตรฐานโรงงานผลิตมาเรียบร้อยเเล้ว ทำให้สามารถจัดจำหน่ายเเละนำไปใช้งานได้ทันที อย่างไรก็ตามหากแบตเตอรี่ดังกล่าวถูกเก็บไว้มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ควรต้องตรวจเช็กไฟในแบตเตอรี่ก่อนนำไปใช้งาน เนื่องจากไฟในแบตเตอรี่อาจอ่อนลง รวมถึงก่อนการติดตั้งเพื่อใช้งาน ควรต้องชาร์จไฟเพื่อรักษาความคงทนของแบตเตอรี่ไว้ด้วย

2. “แบตเตอรี่แห้ง” มีกี่ประเภท

แบตเตอรี่แห้งสามารถแบ่งประเภทได้จากรูปแบบของสารละลายอิเล็กโทรไลต์ภายในเซลล์แบตเตอรี่ มีรายละเอียดดังนี้

1) แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM (Absorbent Glass Mat)

แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM (Absorbent Glass Matt) จัดเป็นแบตเตอรี่ตะกั่วกรดชนิดพิเศษที่มีเทคโนโลยีแผ่นกั้นใยแก้วพิเศษ ช่วยลดการระเหยของน้ำและช่วยดูดซับน้ำกรดได้เป็นอย่างดีในกรณีที่รถยนต์อยู่ในสภาวะสั่นมาก หรือกรณีที่แบตเตอรี่แตก น้ำกรดจะถูกดูดซับเอาไว้เเละไม่ไหลออกมาสร้างความเสียหายให้กับรถยนต์

แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับนวัตกรรมยานยนต์ในปัจจุบันที่ต้องการแหล่งพลังงานประสิทธิภาพสูง เช่นรถยนต์รุ่นใหม่จากบริษัทชั้นนำในเเถบยุโรป ปัจจุบันอาจพบว่าแบตเตอรี่ดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมใช้งานในในเเถบเอเชียมากนัก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่

  • แบตเตอรี่ SLA (Sealed Lead Acid) หรือแบตเตอรี่แบบปิดผนึก มักพบใช้ในงานอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากกว่านำมาใช้ในรถยนต์
  • แบตเตอรี่ VRLA (Valve Regulate Lead Acid) หรือแบตเตอรี่แบบมีวาล์วระบายแรงดันภายในที่จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับแบตเตอรี่ ในกรณีที่เกิดแรงดันภายในสูงเกินไป เช่น การเกิดภาวะกระแสไฟเกิน (Over Charge) ซึ่งแบตเตอรี่ประเภทนี้มักเป็นแบตเตอรี่แห้งแบบ AGM ที่นิยมนำมาใช้ในรถยนต์ เนื่องจากสามารถเก็บและจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นเวลาต่อเนื่องได้นานกว่า
อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่แห้งแบบ AGM ส่วนใหญ่ในท้องตลาด จะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านอุณหภูมิระหว่างการใช้งาน เเละมีอายุการใช้งานสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ขาดการชาร์จไฟ จนเกิดภาวะการกระชากไฟรุนแรง (Over-discharge) เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นได้ในแบตเตอรี่ทั่วไป

2) แบตเตอรี่แห้งแบบเจล

แบตเตอรี่แห้งแบบเจล คือแบตเตอรี่ที่มีตัวอิเล็กโทรไลต์ในรูปของเจล มีความคงทนต่ออุณหภูมิการใช้งานที่กว้างทั้งในอุณหภูมิที่เย็นและร้อน จึงเป็นที่นิยมใช้งานในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น เนื่องจากตัวอิเล็กโทรไลต์ในรูปของเจลจะไม่จับตัวเเข็งเมื่อเจอกับสภาพอากาศหนาวจัด

3. “แบตเตอรี่แห้ง” แตกต่างจากแบตเตอรี่กึ่งแห้งยังไง

แบตเตอรี่แห้ง (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) จะไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเลยตลอดอายุการใช้งาน ทำให้ไม่มีช่องสำหรับเปิด-ปิดเพื่อเติมน้ำกลั่น ในขณะที่แบตเตอรี่กึ่งแห้ง (Maintenance Free Car Battery - MF) ยังต้องเติมน้ำกลั่นอยู่ ทำให้มีช่องสำหรับเปิด-ปิดเพื่อเติมน้ำกลั่น จึงจะมีอัตราการระเหยของน้ำกลั่นที่น้อยกว่าแบตเตอรี่น้ำ (Conventional Battery)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแบตเตอรี่แห้งเเละแบตเตอรี่กึ่งแห้งจะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่แบบน้ำ เเต่เเบตเตอรี่ทั้งสองกลุ่มจัดเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ที่ดูแลรักษาง่าย มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าแบตเตอรี่แบบน้ำ เเละมีมาตรฐานการผลิตเท่ากันทุกลูกจากการที่ได้รับการเติมน้ำกรดเเละชาร์จไฟตามมาตรฐานโรงงานผลิต

4. “แบตเตอรี่แห้ง” หรือแบตเตอรี่น้ำ เลือกแบบไหนดี

แบตเตอรี่แห้ง (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) ไม่ต้องคอยเติมน้ำกรดหรือน้ำกลั่นแต่อย่างใดตลอดอายุการใช้งาน มีน้ำหนักที่เบากว่าแบตเตอรี่น้ำ (Conventional Battery) และสามารถวางแบตเตอรี่แห้งในทิศทางใดก็ได้โดยที่สารเคมีจะไม่หกไหลออกมา เนื่องจากแบตเตอรี่แห้งได้รับการซีลห่อหุ้มไว้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่แห้งจะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่น้ำ รวมถึงแบตเตอรี่แห้งเป็นแบตเตอรี่ระบบปิดที่มีช่องระบายเพียงช่องเดียวและมีขนาดเล็ก จึงทำให้มีโอกาสอุดตันได้โดยง่าย และเมื่ออุดตันจะเกิดปัญหาแรงดันภายในหรือความร้อนสะสมมาก หากเป็นแบตเตอรี่แห้งแบบปิดผนึกซีล เมื่อซีลหลุดลอกอาจทำให้ความชื้นเข้าสะสมภายในและทำความเสียหายให้กับแบตเตอรี่ได้

5. “แบตเตอรี่แห้ง” อายุการใช้งานเท่าไร

อายุการใช้งานของแบตเตอรี่แห้งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 - 2.5 ปี ขึ้นอยู่กับยี่ห้อเเละสภาพการใช้งาน หรือคิดเป็นระยะทางในการขับขี่ประมาณ 50,000 - 70,000 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าอายุการใช้งานของแบตเตอรี่แบบน้ำที่ต้องคอยเติมน้ำกลั่น และอาจใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 5-10 ปี หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่แห้งสั้นลงมีหลายสาเหตุ เช่น

  • อุณหภูมิที่ร้อนเกินไป เมื่อมีการใช้งานแบตเตอรี่แห้งด้วยอุณหภูมิที่สูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายวัน อาจทำให้น้ำกรดภายในแบตเตอรี่แห้งระเหยได้เร็วกว่าปกติ
  • ระบบไฟฟ้าของรถยนต์ที่ไม่เสถียร จากการปรับเเต่งอุปกรณ์ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าภายในรถยนต์เพิ่มเติม ทำให้ระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์ไม่คงที่ หรือไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้แบตเตอรี่แห้งทำงานหนักมากกว่าปกติ
  • ไม่ชาร์จไฟ หรือชาร์จไฟไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการชาร์จไฟฟ้าด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน การชาร์จกระเเสไฟได้ไม่ถึงตามข้อกำหนกการใช้งาน การไม่ตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อชาร์จแบตเตอรี่แห้งเต็ม หรือการปล่อยให้แบตเตอรี่หมดประจุไฟบ่อยครั้ง ล้วนมีส่วนทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่แห้งสั่นลงกว่าที่ควรจะเป็นทั้งสิ้น

ทั้งนี้ แบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานที่ยาวขึ้นหากเก็บรักษาในที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่ำ เนื่องจากอุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้โดยง่าย ดังนั้นควรเลือกซื้อจากร้านที่เก็บ รักษาแบตเตอรี่อย่างเหมาะสม เช่น ติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะช่วยให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานตามที่ควรจะเป็น

6. “แบตเตอรี่แห้ง” ชาร์จได้ไหม

แบตเตอรี่แห้งสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ เนื่องจากแบตเตอรี่แห้งจะได้รับการเติมน้ำกรดและชาร์จไฟตามมาตรฐานโรงงานผลิตมาเรียบร้อยเเล้ว ทำให้สามารถจัดจำหน่ายเเละนำไปใช้งานได้ทันที แต่หากแบตเตอรี่ดังกล่าวถูกเก็บไว้มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ควรต้องเช็กไฟในแบตเตอรี่ก่อนนำไปใช้งาน เนื่องจากไฟในแบตเตอรี่อาจอ่อนลง รวมถึงก่อนการติดตั้งเพื่อใช้งาน ควรต้องชาร์จไฟเพื่อรักษาความคงทนของแบตเตอรี่ไว้

7. “แบตเตอรี่แห้ง” ยี่ห้อไหนดี

ผู้จัดจำหน่ายแบตเตอรี่แห้งในประเทศไทย ได้แก่ Bosch, 3K, FB, Puma และ Amaron ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบรนด์เก่าแก่จากต่างประเทศที่รู้จักกันเป็นอย่างดี หรือแบรนด์ใหม่ที่นำเสนอแบตเตอรี่แห้งในหลากหลายรุ่นให้เลือกตามความต้องการใช้งาน

แบตเตอรี่แต่ละประเภทล้วนมีจุดเด่น-จุดด้อยที่แตกต่างกันไป ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมจากความต้องการเเละลักษณะการใช้งานของผู้ขับขี่ หากต้องการแบตเตอรี่ที่คงทน ราคาถูกเเละหาซื้อได้สะดวก แบตเตอรี่น้ำ (Conventional Battery) นับเป็นทางเลือกเเรก เเต่ต้องหมั่นเติมน้ำกลั่นอยู่เสมอ ในขณะที่หากต้องการการดูแลที่ไม่ยุ่งยาก เเละไม่มีปัญหาเรื่องราคา แบตเตอรี่แห้ง (Sealed Maintenance Free Car Battery - SMF) หรือแบตเตอรี่กึ่งแห้ง (Maintenance Free Car Battery - MF) ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเช่นกัน

เมื่อเลือกแบตเตอรี่ที่เหมาะสมกับการใช้งานได้แล้ว อย่าลืมลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดจากอุบัติเหตุระหว่างการขับขี่ ด้วย “ประกันภัยรถยนต์คนดีฯ” ประกันรถยนต์ชั้น 1 โปรไฟล์ยิ่งดี เบี้ยประกันยิ่งถูก เริ่มต้น 6,999 บาท โปรไฟล์ดี มีค่าเป็นส่วนลด ซื้อง่าย สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/premotor.aspx

สินมั่นคงประกันรถยนต์ ..เราประกัน คุณมั่นใจ..

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.