Ads Top

SMK Insurance

เปิดใช้ "สัญญาณไฟ" รถยนต์ที่ถูกต้องอย่างไร?

 



"สัญญาณไฟ" รถยนต์ถูกออกแบบมาเพื่อการสื่อสารกับรถคันอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยว่า เรากำลังจะทำอะไร? สัญญาณที่ใช้จะต้องสื่อถึงสิ่งที่กำลังทำต่อไป หากให้สัญญาณไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน อาจเป็นอันตรายนำไปสู่อุบัติเหตุได้ 

แต่ด้วยพฤติกรรมการขับรถในปัจจุบัน อาจเปลี่ยนแปลงไปตามการขับขี่ของคนบนท้องถนนส่วนใหญ่ บางอย่างอาจถูกต้อง บางอย่างก็อาจไม่ถูกต้อง รวมถึงการเปิดสัญญาณไฟรถยนต์ ซึ่งอาจมีการผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ จึงมีคำแนะนำการเปิดใช้สัญญาณไฟ เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้องมาบอกกันดังนี้


การใช้ไฟเลี้ยว

- เปิดใช้เมื่อเลี้ยวรถ เปลี่ยนช่องทาง ขอแซง หรือกลับรถ ควรเปิดล่วงหน้าในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อให้ผู้ที่ขับรถตามหลังมาทราบทิศทางการเดินรถ จะได้ชะลอความเร็ว หรือเปลี่ยนช่องทางได้ทัน

- เมื่อรถกลับเข้าช่องทางปกติแล้วให้ปิดสัญญาณไฟ เพื่อมิให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางเกิดความสับสน 

- ไม่เปิดไฟเลี้ยวในระยะกระชั้นชิดและเปลี่ยนช่องทางในทันที

- เพิ่มความระมัดระวังในการใช้สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายบริเวณทางแยกหรือทางร่วม




ไฟเบรก 

- เปิดใช้เมื่อรถจอดติดสัญญาณไฟ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนหรือบริเวณที่มีทัศนวิสัยไม่ดี และยังไม่มีรถมาจอดต่อท้าย เพื่อให้ผู้ขับรถคันอื่นทราบว่ามีรถจอดจะได้หยุดรถทัน

- เปิดใช้กรณีเส้นทางมีสิ่งกีดขวางช่องทางจราจร จนต้องชะลอความเร็วและเปลี่ยนช่องทาง จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุชนท้าย 

- หลีกเลี่ยงการเหยียบเบรกบ่อยครั้ง เพราะนอกจากสัญญาณไฟเบรกจะสร้างความรำคาญแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทางแล้ว ยังส่งผลให้การกะระยะทางในการหยุดรถผิดพลาด ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ 


ไฟฉุกเฉิน

- เปิดใช้กรณีประสบอุบัติเหตุบนทางสาธารณะ จอดรถกีดขวางช่องทางจราจร ริมไหล่ทาง หรือบริเวณที่แสงสว่างไม่เพียงพอ เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง จะได้เปลี่ยนช่องทางได้ทัน 

- ไม่เปิดใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ขับรถผ่านสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟ หยุด หรือจอดรถในที่ห้าม  ขับรถย้อนศร ขับรถผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี เพราะนอกจากจะทำให้ไม่มีสัญญาณไฟเลี้ยวใช้แล้ว ยังทำให้ผู้ขับรถคันอื่นเห็นสัญญาณไฟเพียงด้านเดียว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ 

- หากต้องเลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องทาง ควรปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน เพราะจะทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางไม่ทราบทิศทางในการเดินรถ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 




ไฟสูง 

- เปิดใช้เมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มืดมาก เพื่อจะได้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น และปรับลดเป็นไฟต่ำเมื่อมีรถวิ่งสวนทางมา หรืออยู่ในเส้นทางที่มีแสงสว่างเพียงพอเพื่อป้องกันแสงไฟรบกวนสายตาผู้ขับรถคันอื่น เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ 

- เปิดใช้เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะบริเวณทางโค้งหักศอก ทางข้าม ยอดเนิน สะพานที่โค้งยาวหรือมุมอับในช่วงเวลากลางคืน เพื่อตรวจสอบสภาพเส้นทาง แต่ต้องระวังมิให้แสงไฟรบกวนสายตาผู้ขับรถคันอื่น 




ไฟตัดหมอก

- เปิดใช้เมื่อขับผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี เช่น ฝนตกหนัก หมอกควันปกคลุมเส้นทาง จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้นและผู้ขับรถคันอื่นมองเห็นรถเราได้จากระยะไกล

- เปิดใช้ในช่วงกลางคืนหลังฝนตกหรือมีน้ำเฉอะแฉะ จะช่วยลดการสะท้อนของแสงไฟหน้ารถกับพื้นถนนที่มีน้ำเจิ่งนอง ทำให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น 

- ปิดไฟตัดหมอกเมื่อมีรถขับสวนทางมาในระยะ 150 เมตร เพราะแสงไฟตัดหมอกส่องสว่างได้ในระยะไกล ทำให้ผู้ขับรถคันอื่นสายตาพร่ามัว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้


สิ่งสำคัญเราควรตรวจสอบสัญญาณไฟให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีแสงไฟส่องสว่างทุกดวง และหมั่นทำความสะอาดโคมแก้วครอบสัญญาณไฟ จะช่วยให้แสงไฟส่องสว่างได้มากขึ้น รวมถึงเลือกใช้สัญญาณไฟให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางได้

เตรียมพร้อมรับมือกับทุกการเดินทาง ด้วยประกันรถยนต์ที่ช่วยคุ้มครองรถยนต์ สินมั่นคงประกันภัย พร้อมดูแลด้วยบริการที่สะดวก รวดเร็ว โทร. 1596 หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.smk.co.th/PreMotor.aspx 

สินมั่นคงประกันภัย ..ประกันรถ ประกันเวลา.. 


ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)



ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.