Ads Top

SMK Insurance

เที่ยวทะเลต้องระวัง! สัตว์ทะเลชนิดไหน? อาจทำร้ายนักท่องเที่ยว

เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ หนึ่งจุดหมายปลายทางฮอตฮิตของนักท่องเที่ยวคือการไปพักผ่อนคลายร้อนที่ทะเล ไม่ว่าจะเป็นทะเลในแถบฝั่งอันดามัน หรือทะเลแถบชายฝั่งอ่าวไทย แต่ก็มีหลายครั้งที่พบว่า มีนักท่องเที่ยวเกิดอุบัติเหตุถูกทำร้ายจากสัตว์ทะเลจนได้รับบาดเจ็บ (หนุ่มเจอปลาเต็กเล้งพุ่งแทงคอเจ็บขณะเล่นน้ำ) เที่ยวทะเลปีนี้ นักท่องเที่ยวควรต้องระวังสัตว์ทะเลอะไรบ้าง? แล้วจะมีวิธีการป้องกันหรือปฐมพยาบาลในเบื้องต้นอย่างไรบ้าง? สินมั่นคงประกันภัยมีข้อมูลมาฝากค่ะ  

สัตว์ทะเลมีพิษต้องระวัง!

1. ขนนกทะเล (Sea Feather)

ขนนกทะเลเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายพืช อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีหลายชนิด บางชนิดมีลักษณะคล้ายขนนกและบางชนิดมีลักษณะคล้ายเฟิร์น มักจะพบตามแนวปะการัง ริมชายฝั่ง หรือเสาสะพานท่าเรือ รวมถึงเศษวัสดุที่ลอยในทะเล หากผิวสัมผัสกับขนนกทะเล จะทำให้พิษแทรกเข้าสู่ผิวหนังได้ ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน

การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสขนนกทะเลโดยตรง หากถูกพิษให้ล้างผิวบริเวณนั้นด้วยแอลกอฮอล์ แล้วประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น หากมีอาการรุนแรงต้องรีบส่งแพทย์ทันที

2. ปะการัง (Coral)

ปะการังเป็นสัตว์ทะเลกลุ่มใหญ่ที่มีมากกว่า 750 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แบบเดี่ยว ปะการังบางชนิดมีหนามหรือแง่แหลมคมยื่นออกมา ซึ่งภายในจะมีพิษทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ซึ่งหากเข้าไปใกล้หรือสัมผัสโดนตรงแง่คมๆ ก็อาจทำให้ถูกพิษ และเกิดอาการบวมแดงและเป็นผื่นคันได้

การป้องกันและรักษา ไม่ควรเดินเหยียบย่ำไปบนปะการัง หรือดำน้ำผ่านแนวปะการัง เพราะหินของปะการังมีความแข็งและแหลมคมมากอาจทำให้เกิดบาดแผล นอกจากนี้ปะการังมักมีพวกแบคทีเรียอาศัยอยู่ ทำให้บาดแผลหายช้า จึงต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหรือแอลกอฮอล์โดยเร็ว และตรวจดูว่าไม่มีเศษปะการังติดค้างอยู่ ควรใส่ยาฆ่าเชื้อ และหากแผลมีขนาดกว้างและลึกควรรีบนำส่งแพทย์ 

3. ปะการังไฟ (Fire Coral)

ปะการังไฟเป็นสัตว์ทะเลจำพวกเดียวกับขนนกทะเลและมีพิษเช่นเดียวกัน มีรูปร่าง 3 แบบคือ แบบแผ่น แบบก้อน และแบบแขนง โดยทั่วไปมักมีสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาล พบปะปนอยู่กับสัตว์อื่นในแนวปะการังทั่วไป หากสัมผัสกับปะการังไฟ จะทำให้เกิดรอยไหม้ บวมแดง และปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังที่สัมผัส

การรักษา ให้ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูหรือล้างด้วยอะลูมิเนียมซัลเฟต หากส่วนที่สัมผัสปะการังเป็นมือ ห้ามนำมาเช็ดหน้าหรือเข้าตาโดยเด็ดขาด เพราะพิษจากปะการังไฟที่ยังเหลืออยู่ จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้

4. แมงกะพรุน (Jelly Fish)

แมงกะพรุนทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ ลำตัวโปร่งแสง บริเวณหนวดและแขนงที่ยื่นออกมารอบปากมีเข็มพิษ ที่ใช้ฆ่าเหยื่อหรือทำให้เหยื่อสลบก่อนจับกินเป็นอาหาร พิษของแมงกะพรุนจะทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นบวมแดงและเป็นรอยไหม้ปวดแสบปวดร้อน ทำให้เกิดแผลเรื้อรังได้ แมงกะพรุนบางชนิดทำให้เกิดอาหารจุก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นไข้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต 

การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม หรือช่วงหลังพายุฝน เพราะจะมีกระเปาะพิษของแมงกะพรุนหลุดลอยไปในน้ำทะเล หากถูกพิษของแมงกะพรุนไฟให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล และรีบไปพบแพทย์ หรือนำผักบุ้งทะเลบดแล้วพอกตรงบริวเณที่สัมผัสแมงกะพรุน จะช่วยให้อาการ บรรเทาลงได้

5. ดอกไม้ทะเล (Sea anemone)

ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม มีหนวดเรียงรายอยู่รอบปาก ด้านล่างเป็นฐานยึดเกาะอยู่กับก้อนหิน ก้อนปะการัง หรือฝังตัวลงในพื้นทะเลบริเวณดินเลนหรือดินทราย หากเผลอไปสัมผัสกับหนวดของดอกไม้ทะเลซึ่งมีพิษ จะทำเกิดผื่นแดง ถ้าอาการรุนแรงมากจะทำให้บวมแดง มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน 

การรักษา ให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล และพยายามเอาเมือกและชิ้นส่วนของหนวดดอกไม้ทะเลออกให้หมด ถ้ามีอาการทรุดให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน

6. บุ้งทะเล (Fire worms)

บุ้งทะเลเป็นหนอนปล้องจำพวกเดียวกับแม่เพรียงหรือไส้เดือนทะเล แต่มีลำตัวสั้นกว่า ลำตัวของบุ้งทะเลมีขนยาวมาก ขนบุ้งเป็นเส้นแข็งและสามารถหลุดจากตัวบุ้งได้ง่าย สามารถแทงเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันได้

การป้องกันและการรักษา ระมัดระวังไม่ให้บุ้งทะเลสัมผัสกับผิวหนัง ไม่ใช้มือเปล่าหยิบจับบุ้งทะเล หากสัมผัสโดนบุ้งทะเล ให้หยิบขนบุ้งออกให้หมด แล้วใช้ครีมหรือคาลาไมน์ทาเพื่อบรรเทาอาการคันและป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดตามมาได้

7. เพรียงหิน (Rock Barnacle)

เพรียงหินเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับกุ้งและปู อาศัยอยู่ตามโขดหิน เสาสะพานท่าเรือ หลักโป๊ะ หลักเลี้ยงหอยแมลงภู่ ฟาร์มหอยนางรม หรืออาจพบอยู่บนสัตว์มีเปลือก เช่น หอย แมงดาทะเล ปู เป็นต้น เพรียงหินเป็นสัตว์ที่พบบ่อยและพบชุกชุมตามริมชายฝั่งทะเลทั่วไป

การป้องกันและรักษา ระวังเปลือกที่แหลมคมของเพรียงหิน เมื่อเดินไปตามโขดหินหรือเมื่อดำน้ำเก็บหอยแมลงภู่ หากถูกเพรียงหินบาดให้ทำความสะอาดบาดแผลและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาแดง หากเสียเลือดมากให้นำส่งแพทย์เพื่อเย็บบาดแผลทันที

8. เม่นทะเล (Sea urchin)

เม่นทะเลเป็นสัตว์ที่มีหนามยาว พบชุกชุมในแนวปะการังของชายฝั่งทะเลไทย คือเม่นดำหนามยาว การดำน้ำหรือเล่นน้ำบริเวณที่มีเม่นทะเล หนามของเม่นทะเลเปราะหักง่าย แต่เมื่อฝังอยู่ในเนื้อจะไม่สามารถบ่งออกได้ บางชนิดมีพิษที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง ปวด และเป็นไข้ได้ หนามของเม่นทะเลจะทำให้เกิดอาการบวมแดง ชาอยู่นานประมาณ 30 นาที จนถึง 4-6 ชั่วโมง และหนามจะย่อยสลายไปภายใน 24 ชั่วโมง

การป้องกันและรักษา โดยปกติเม่นทะเลไม่เป็นอันตรายต่อนักดำน้ำ ถ้าไม่เข้าไปใกล้หรือจับต้อง เมื่อถูกหนามเม่นทะเลตำ ให้ถอนหนามออก หากถอนไม่ออกให้พยายามทำให้หนามบริเวณนั้นแตกเป็นชิ้นเล็ก โดยการบีบผิวหนัง หรือแช่แผลในน้ำร้อนประมาณ 50 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยให้หนามย่อยสลายเร็วขึ้น แต่ก็มีหนามบางชนิดไม่สามารถย่อยสลายได้เช่นกัน ต้องใช้วิธีผ่าออกเท่านั้น

9. ปลากระเบน (Ray)

ปลากระเบนเป็นปลากระดูกอ่อน มีหางยาวซึ่งมีเงี่ยงแหลมอยู่บริเวณโคนหาง ไว้คอยป้องกันตัว หากเดินอยู่ริมชายฝั่งทะเลอาจเหยียบไปบนตัวปลากระเบนที่หมกตัวอยู่ตามพื้นทะเลได้ และอาจถูกเงี่ยงตำจนได้รับความเจ็บปวด บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้

การรักษา การปฐมพยาบาลในขั้นแรกคือ ห้ามเลือดที่บาดแผล แล้วตรวจดูว่ามีเศษเงี่ยงพิษตกค้างอยู่หรือไม่ เนื่องจากพิษของเงี่ยงปลากระเบนเป็นสารพวกโปรตีนย่อยสลายในความร้อน ดังนั้นควรแช่บาดแผลในน้ำร้อนเท่าที่จะทนได้ ประมาณ 30-60 นาที อาการปวดจะทุเลาลง และทานยาแก้อักเสบ หากมีอาการแพ้ควรรีบนำส่งแพทย์ทันที

วางแผนท่องเที่ยวปีนี้ (6 เคล็ดลับวางแผนเที่ยว https://www.smk.co.th/newsdetail/1676) จะเดินทางคนเดียวหรือท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะก็คุ้มครองคุณทุกการเดินทาง ประกันภัยการเดินทาง คุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 24 ชั่วโมงตลอดระยะเวลาเดินทาง เบี้ยเริ่มต้น 16 บาท สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/productpadetail/3 หรือ โทร.1596 Line : @smkinsurance

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.